‘โดรน’ ขุมพลังใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-วิถีชีวิตชาวจีน
ส่อง ‘จีน’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-วิถีชีวิตด้วย ‘โดรน’ เล็งนำเทคโนโลยีจีนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ท่ามกลาง 'โดรน' ในไทยที่ยังไร้กฎหมายควบคุม!
สำนักข่าวซินหัวรายงานความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีด้าน ‘โดรน’ เข้าไปใช้งานในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของจีน โดยระบุว่า
‘โดรน จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อน “กำลังผลิตใหม่” ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของจีน’
โดรนภาคการเกษตรลดต้นทุน 50%
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนเป็นฐานปลูกพืชน้ำตาลและแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญของประเทศ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูควบคุมโรคและแมลงในไร่อ้อย ที่ตำบลเฉิงเซียงในนครหนานหนิง เจ้าหน้าที่เทคนิคจะนำโดรนเข้ามาบินพ่นสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,666 ไร่โดยโดรนถูกใช้พ่นยาฆ่าแมลง กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยน้ำ และจะทำงานในพื้นที่อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ซึ่งได้รับความนิยมจากเกษตรกร
เพราะถ้าจ้างแรงงานต้องจ่ายค่าแรงราว 50 บาทเหลือเพียงราว 25 บาทต่อไร่ ทั้งยังประหยัดการใช้ยากำจัดศัตรูพืชอีกด้วย
ด้าน นายสวี่จวิน ผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรในท้องถิ่นกล่าวว่า ช่วงเมษายนถึงกรกฎาคมที่มีฝนตกบ่อย ก่อให้เกิดโรคและแมลงระบาดในไร่อ้อย แต่เกษตรกรสามารถใช้โดรนแค่ 2 ลำ ในการกำจัดแมลงและวัชพืชในพื้นที่เกือบสองพันไร่ได้ภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งโดยปกติถ้าใช้แรงงานคนจะต้องมีอย่างน้อย 30 คนซึ่งทำต่อเนื่องกว่า 20 วัน นอกจากนี้การใช้โดรนยังทำให้คนงานไม่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง
โดรนภาคขนส่งประหยัดเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับเส้นทางถนน
สำนักข่าวซินหัวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากภาคเกษตร โดรนกำลังมีบทบาทสำคัญในด้านการขนส่งทางอากาศ อาทิ ในเมืองหนานหนิงมีการส่งอาหารจากร้านในตัวเมืองถึงมือลูกค้าที่อยู่ห่างออกไป 13 กิโลเมตรภายในเวลาเพียง 13 นาที หรือการขนส่งเวชภัณฑ์ไปยังจุดขึ้นบินและลงจอดที่ศูนย์รับเลือดซึ่งห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร สามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ หากใช้รถยนต์วิ่งจะต้องใช้เวลานานกว่า 2 เท่า หรือราว 40-50 นาที อีกทั้งการขนส่งด้วยโดรนยังสามารถติดตามและควบคุมการขนส่งได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการขนส่งได้อีกด้วย
โดรนกับการกู้ภัยฉุกเฉิน
จีนยังใช้โดรนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2024 เกิดพายุไต้ฝุ่นยางิที่ส่งผลให้ระดับน้ำของแม่น้ำอวี้เจียงในหนานหนิงเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2001 จนหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย จึงมีการนำโดรนมาใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยที่สำคัญ
นายหลี่เจิ้นซิง เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจการบินระดับต่ำของเมืองหนานหนิงเผยว่า สมาชิกที่เป็นบริษัทด้านโดรน 6 แห่งของสมาคมได้ร่วมส่งโดรนรวม 38 ลำ ทำภารกิจป้องกันน้ำท่วม 209 เที่ยว มีระยะทางบินลาดตระเวนรวม 787 กิโลเมตร และตรวจพบจุดเสี่ยงรวม 88 แห่ง
อีกทั้งโดรนยังถูกนำไปใช้งานด้านการสำรวจภูมิประเทศและลักษณะภูมิศาสตร์ หากติดตั้งโมดูลส่งภาพผ่านระบบ 4G ก็สามารถสั่งการจากระยะไกลได้ ขณะที่โดรนติดเรดาร์ช่วยให้เก็บข้อมูลสำหรับการทำแผนที่ได้แม่นยำมากขึ้น!
ยอดจดทะเบียนในจีนปี 2024 ทะลุ 1.1 ล้านลำ!
จากความนิยมการใช้โดรนในประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวรายงานสถิติในปี 2024 พบว่าจีนออกใบรับรองโดรนไร้คนขับจำนวน 6 รุ่น
มีการลงทะเบียนโดรนเพิ่มกว่า 1.1 ล้านลำ มีจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโดรนมากกว่า 20,000 แห่ง และมียอดการบินสะสมของโดรนรวม 26.66 ล้านชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15
ทั้งนี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและอาเซียนร่วมมือกันขยายการใช้โดรนในหลากหลายสาขา เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว และการสำรวจแผนที่ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีในจีนก็กำลังเร่งสร้าง ‘ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจการบินระดับต่ำจีน-อาเซียน’ ซึ่งจะเป็นโมเดลที่บูรณาการโดรนเข้ากับการค้าชายแดนดิจิทัล และโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น ความสามารถในการบินในสภาพแวดล้อมป่าฝนเขตร้อน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการบินของหลายประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีโดรนของจีนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศนั่นเอง
โดรนในประเทศไทย ยังไร้กฎหมายควบคุม
จากรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว จึงต้องหันกลับมามองประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2568 นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ (CAAT) เปิดเผยว่า ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา การเติบโตของโดรน เพิ่มขึ้นจาก 8,544 ลำ เป็น 111,110 ลำ หรือเพิ่มขึ้นถึง102,566 ลำ ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงมาก และคาดว่าในปี 2568-2569 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 แสนลำ โดยเฉพาะโดรนสำหรับถ่ายภาพ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กพท. มีเพียงกฎหมายการจดทะเบียนโดรน การขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยโดรน และการขออนุญาตทำการบินโดรน เท่านั้น ทั้งหมดเป็นกฎหมายควบคุมการใช้งาน เช่น ห้ามปล่อยโดรนใน รัศมี 9 กม.รอบสนามบิน หรือโดรน น้ำหนักน้อยกว่า 25 กก.ใช้ปฎิบัติการนอกพื้นที่สนามบินไม่ต้องขออนุญาต เป็นต้น
แต่ประเด็นที่ห่วงและยังมีช่องว่าง คือ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการมีโดรน ทำให้ตอนนี้ ใครๆ ก็สามารถซื้อหรือนำเข้ามาโดยอิสระ ซึ่งหากผู้เป็นเจ้าของไม่นำโดรนไปจดทะเบียนจะทำให้รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้
โดยคาดว่ายังมีโดรนที่ไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบอีกเป็นจำนวนมาก นับแสนลำ ซึ่งเป็นข้อกังวล เพราะโดรนสามารถนำไปใช้งานที่เป็นประโยชน์ แต่ก็สามารถนำไปใช้ในเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การยกระดับกฎหมาย มี 2 แนวทาง คือ ภาคความมั่นคงและพลเรือน ร่วมกันสร้างกฎหมายใหม่ เพื่อดูแล กำหนดเป็นสินค้ายุทธภัณฑ์ หรือ ให้ภาคพลเรือน โดย CAAT ออกกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ ยังอยู่ในระหว่างการหารือและบูรณาการความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นโรดแมปของประเทศ เพราะการมีโดรนผิดกฎหมายจำนวนมากๆ จะเป็นตัวสกัดการพัฒนาประเทศได้