posttoday

ครั้งแรก! วิจัยพบเชื่อมโยง 'ออกกำลังกายดึก' กระทบการนอน-หัวใจ

21 เมษายน 2568

ผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลียพบ การออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอน อาจกระทบคุณภาพการนอนและหัวใจ หลังก่อนหน้านี้ยังไม่พบความเชื่อมโยงชัดเจน

มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาฉบับใหม่ ระบุว่าการออกกำลังกายที่ออกแรงอย่างหนักน้อยกว่า 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนและทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสาร Nature Communications พบว่า การออกกำลังกายภายใน 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน มีความเกี่ยวข้องกับการเข้านอนช้าลง นอนหลับได้น้อยลงและคุณภาพการนอนลดลง รวมถึงมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักสูงขึ้น และความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจต่ำลง ซึ่งนับเป็นการศึกษาครั้งแรกและใหญ่ที่สุดที่พบความเชื่อมโยงนี้อย่างชัดเจน

 

การศึกษานี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจากนานาชาติจำนวน 14,689 คน ติดตามตลอดระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นข้อมูลมากกว่า 4 ล้านคืน โดยผู้เข้าร่วมใส่อุปกรณ์ชีวภาพหลายเซ็นเซอร์ (WHOOP Strap) ที่ใช้บันทึกข้อมูลการออกกำลังกาย การนอนหลับ และข้อมูลด้านหัวใจและหลอดเลือด

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชและ WHOOP ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเวลาการออกกำลังกายตอนเย็น ระดับความหักโหมในการออกกำลังกาย (exercise strain) การนอนหลับ และการทำงานของหัวใจในเวลากลางคืน รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักและความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ

 

ผลการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายในช่วงดึกและระดับความหักโหมสูง มีความสัมพันธ์กับการเข้านอนที่ล่าช้า ระยะเวลาการนอนที่สั้นลง คุณภาพการนอนลดลง อัตราการเต้นหัวใจขณะพักในเวลากลางคืนที่สูงขึ้น และความแปรปรวนของหัวใจในเวลากลางคืน 

 

ข้อมูลที่ได้มีการวิจัยครอบคลุมประเด็นเรื่องเพศ อายุ วันในสัปดาห์ ฤดูกาล ความแข็งแรงของร่างกาย และคุณภาพการนอนของคืนก่อนหน้า โดยการออกกำลังกายที่หักโหมสูงหมายถึงกิจกรรมที่ทำให้มีการหายใจเร็วขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น และมีความตื่นตัวทางจิตใจสูง เช่น การออกกำลังกายแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training), การเล่นฟุตบอลหรือรักบี้ หรือการวิ่งระยะไกล

 

ดร.จอช ลีโอตา หนึ่งในคณะวิจัย ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า เขาต้องการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเวลาในการออกกำลังกายกับการนอนหลับ เนื่องจากข้อมูลที่มีก่อนหน้านี้มีความไม่ชัดเจน 

เขากล่าวว่า การออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงเย็นสามารถทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะตื่นตัว ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมแนวทางด้านสาธารณสุขจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน แต่ผลการวิจัยจากห้องทดลองหลายชิ้นกลับไม่สอดคล้องกัน บางชิ้นบอกว่าไม่ได้ส่งผลต่อการนอนเสมอไป

 

“เพราะการศึกษาก่อนหน้านี้มักใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก อยู่ในห้องแล็บ และไม่ค่อยใช้รูปแบบการออกกำลังกายที่มีความต้องการทางหัวใจและเมตาบอลิซึมสูง ทำให้ข้อสรุปที่ได้อาจไม่สามารถนำไปใช้กับชีวิตจริงได้” ดร.จอชกล่าวและชี้แนะว่า

“ถ้าจำเป็นต้องออกกำลังกายภายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ควรเลือกกิจกรรมที่ใช้แรงต่ำ เช่น การจ๊อกกิ้งเบา ๆ หรือว่ายน้ำแบบผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการนอนและเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ปรับตัวง” เขากล่าว

 

ดร.เอลิส เฟเซอร์-ไชลด์ส นักวิจัยอาวุโสจากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวเสริมว่า ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนในทุกตัวแปรที่ศึกษา

 

“การออกกำลังกายช่วงเย็น โดยเฉพาะกิจกรรมที่หัวใจทำงานสูง อาจส่งผลรบกวนการนอน อัตราการเต้นหัวใจขณะพัก และความแปรปรวนของหัวใจในเวลากลางคืน ซึ่งอาจรบกวนกระบวนการฟื้นตัวที่สำคัญของร่างกาย” 

 

โดย ดร.เอลิส กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับวงการสาธารณสุข และเป็นก้าวและเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงสุขภาพการนอนของประชากร โดยเฉพาะเมื่อ 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลียรายงานว่ามีปัญหาเรื่องการนอนอย่างน้อยหนึ่งปัญหา และ 1 ใน 5 นอนหลับไม่ถึง 7 ชั่วโมงตามที่แนะนำ

 

ที่มา

https://www.monash.edu/medicine/news/latest/2025-articles/exercise-before-bed-is-linked-with-disrupted-sleep-study