‘Who am I to judge?’ ถ้อยคำปลอบประโลม ‘คนที่แตกต่าง’ จากโป๊ปฟรานซิส
โพสต์ทูเดย์ รวบรวมถ้อยคำและประโยคสัมภาษณ์จากโป๊บฟรานซิส ที่ทำให้เห็นถึงการเปิดกว้างต่อ LGBTQ+ ในรอบ 2,000 ปีของคริสตจักรคาทอลิก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ตลอดระยะเวลาการขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา จากถนนในเมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วยผู้อพยพชาวอิตาลี
Jorge Mario Bergoglio พระนามเดิมของ โป๊บฟรานซิส ( Pope Francis ) ผู้ล่วงลับ ดำเนินไปด้วยความเรียบง่ายและความประสงค์ที่จะโอบกอด มนุษยชาติ ทุกคน ไว้ด้วยความเมตตา
“คนทุกคนไม่ควรถูกนิยามตามรสนิยมทางเพศ พวกเราอย่าลืมว่า พระเจ้าทรงรักมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง และเราได้รับพระคุณความรักมากมายจากพระองค์”
ถ้อยคำในช่วงปี ค.ศ.2016 ที่แม้จะสอดแทรกด้วยความเชื่อทางหลักศาสนา แต่กลับแสดงให้เห็นถึงสายตาที่พระองค์มองมนุษยชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างเข้าใจ และพระองค์เป็นผู้นำคนสำคัญที่นำพาคริสตจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งเคยอยู่คนละฝั่งกับเหล่า LGBTQ+ มานาน เปิดใจและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
จุดเริ่มต้นการแสดงท่าทีต่อ LGBTQ+ ของพระองค์เริ่มตั้งแต่ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2013 พระองค์ได้กล่าวประโยคที่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ และโด่งดังที่สุดประโยคหนึ่งต่อแนวคิดผู้มีความหลากหลายทางเพศ นั่นคือ
“ Who am I to judge?”
หากขยายประโยคให้มากกว่านี้ก็คือ
“ หากเขาเป็นเกย์และเป็นผู้ไขว่คว้าหาพระเจ้า และเป็นผู้มีจิตใจดี พ่อเป็นใครที่จะไปตัดสินพวกเขา (Who am I to judge?)”
นอกจากแนวคิดแล้ว พระองค์ยังได้ปรับหลักคำสอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้บุคคลข้ามเพศสามารถรับพิธีล้างบาปได้ อนุญาตให้มีการอวยพรคู่รักเพศเดียวกัน พระองค์ยังได้พบกับเหล่า LGBTQ+ หลายครั้ง และจากประเด็นดังกล่าวทำให้พระองค์ถูกยกย่องให้เป็น ‘บุคคลแห่งปี’ โดย The Advocate นิตยสารเพื่อชาว LGBTQ+ ในสหรัฐอเมริกา
รวมคำสอนและถ้อยแถลงเกี่ยวกับความหลากหลายของโป๊ปฟรานซิส
“ Who am I to judge?”
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2013 ประโยคนี้ดังขึ้นในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ระหว่างเที่ยวบินกลับจากงานวันเยาวชนโลก (World Youth Day) ที่ประเทศบราซิล
“หากใครเป็นเกย์ และเขากำลังไขว่คว้าหาพระเจ้าและมีเจตนาดี แล้วเราจะเป็นใครถึงไปตัดสินเขา? หนังสือคำสอนของศาสนจักรคาทอลิกอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างสวยงามว่า... ‘ไม่มีใครควรถูกกีดกันเพราะเหตุนี้ พวกเขาต้องได้รับการเข้าสู่สังคม’ ปัญหาไม่ใช่การมีแนวโน้มทางเพศแบบนี้ ไม่เลย เราทุกคนควรเป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะเป็นคนแบบนี้หรือคนแบบนั้นก็ตาม”
“We must always consider the person”
ในเดือนสิงหาคา 2013 โป๊ปฟรานซิส กล่าวในการสัมภาษณ์กับคุณพ่ออันโตนิโอ สปาดาโร ว่า
“เคยมีคนถามฉันในลักษณะยั่วยุว่า ฉันเห็นด้วยกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันหรือไม่ ฉันตอบเขากลับด้วยคำถามว่า ‘บอกฉันหน่อยสิ: เมื่อตอนที่พระเจ้าทอดพระเนตรไปยังบุคคลที่เป็นเกย์ พระองค์ทรงยอมรับการมีอยู่ของเขาด้วยความรัก หรือว่าทรงปฏิเสธและตัดสินลงโทษเขากันแน่?’ เราต้องพิจารณาบุคคลในฐานะ ‘คน’ เสมอ”
‘the rejection of the Church’
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ตอบคำถาม 3 ข้อจากคุณพ่อเจมส์ มาร์ติน (James Martin, S.J.) นักบวชเยซูอิตที่ทำงานอภิบาลกับชาวคาทอลิก LGBTQ+
“ข้าพเจ้าอยากให้พวกเขาตระหนักว่านั่นไม่ใช่ ‘การถูกปฏิเสธจากศาสนจักร’ แต่เป็น ‘การถูกปฏิเสธจากบุคคลในศาสนจักร’
“Criminalising people with homosexual tendencies is an injustice.
ในเดือนมกราคม 2023 ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Associated Press สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวว่าการทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมเป็นเรื่องที่ “ไม่ยุติธรรม”
“นี่ไม่ถูกต้องเลย ผู้ที่มีแนวโน้มรักเพศเดียวกันคือบุตรของพระเจ้า พระเจ้าทรงรักพวกเขา พระเจ้าทรงเดินเคียงข้างพวกเขา... การประณามคนแบบนี้ถือเป็นบาป การเอาผิดคนที่มีแนวโน้มรักเพศเดียวกันด้วยกฎหมายถือเป็นความอยุติธรรม”
เป็นระยะเวลากว่า 2,000 ปี ที่คริสตจักรโรมันคาทอลิก อิงคำสอนจากพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีบางตอนที่ระบุเรื่องความผิดบาปของ ‘รักร่วมเพศ’ และความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ และแม้ว่ามุมมองต่อ LGBTQ+ ของคริสตจักร จะมองแยกกันระหว่างพฤติกรรมและบุคคล โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับพฤติกรรมทางเพศของ LGBTQ+ แต่พวกเขายอมรับบุคคลที่เป็นแต่ต้องไม่ประพฤติพฤติกรรมดังกล่าว ดังเช่นในสมัยของพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งทรงเรียกร้องให้แยกแยะออกจากกัน และหวังว่าผู้มีแนวโน้มรักร่วมเพศจะได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์ แต่ก็ยังทรงยึดคำสอนดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
สรุปคือ ก่อนหน้าโป๊บฟรานซิส แทบจะไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใด ที่แสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อ LGBTQ+ เท่าพระองค์
การเปิดรับของพระสันตะปาปาฟรานซิส จึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้แก่ ‘ความหลากหลาย’ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่พระองค์อยู่ในตำแหน่ง.