'Save หัวใจหมอ' เมดพาร์คชวนแพทย์คัดกรอง 'หัวใจเต้นผิดจังหวะ'
เพราะหัวใจแพทย์หนึ่งดวงสามารถดูแลประชาชนได้กว่าหลายพันดวง เมดพาร์คต่อยอด 'โครงการ Save อาสาดูแลหัวใจหมอ2025 ครั้งที่ 2' ชวนตรวจคัดกรอง 'หัวใจเต้นผิดจังหวะ'
ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา แพทย์เกือบ 300 คนเสียชีวิต โดยมีอายุน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยถึง 118 คนคิดเป็น 40% ของแพทย์ผู้เสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนของ 'โรคหัวใจ' ราว 10% ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลและวินิจฉัยอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอันตรายจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจแสดงอาการนานๆ ครั้ง จนแพทย์ที่ทำงานหนักและไม่มีเวลาสังเกตตัวเองอาจไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การสูญเสียที่ป้องกันได้
โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงสานต่อโครงการ 'อาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 (ครั้งที่2) มุ่งไปที่การคัดกรองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะหัวใจของหมอ คือ หัวใจของระบบการรักษาพยาบาลทั่วประเทศ
โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 เน้นคัดกรองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เมื่อวานนี้ (22 เมษายน 2568) โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 (ครั้งที่ 2 ) โดยมี ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นประธานเปิดโครงการกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจที่จะส่งต่อสขุาภพที่ดีกลับไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องทำงานหนัก เผชิญความเครียดต่อเนื่องจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลการทำงานของหัวใจ ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงยาวนานที่สุด
ด้าน นพ.พงษ์พัฒน์ ปรานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าการเปิดโครงการครั้งนี้ภายใต้แนวคิด Life does matter ชีวิตนั้นสำคัญนัก โดยเมดพาร์คเน้นย้ำเสมอว่าต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรสาธารณสุขตามแนวทาง Save doctor, Save people, Save Thailand เนื่องจากหากสามารถช่วยชีวิตหมอได้ก็จะสามารถช่วยเหลือชีวิตประชาชนได้อีกหลายหมื่นคน และชีวิตประชาชนก็จะเป็นพื้นฐานการดูแลประเทศต่อไป ทั้งนี้ การกำเนิดขึ้นของโครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ เกิดจาก 2 ปีก่อนมีแพทย์ที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและเสียชีวิตในรูปแบบฉับพลันหลายท่านด้วยกัน
ทั้งนี้ ศาสตราธิคุณ นพ.วสันดต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าสำหรับโครงการครั้งที่ 2 จะเน้นคัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากแพทย์อาจจะไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจสุขภาพตนเอง นอกจากนี้บางครั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ได้มีอาการมาก่อน หรือ อาจจะพบว่าใจสั่นนิดหน่อย แต่อาการดังกล่าวจะนำมาซึ่งอาการของโรคร้ายแรงตามมาเช่น หัวใจเต้นพริ้วทำให้เกิดอาการสโตรค หรือ หัวใจวายได้
สำหรับโครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 นี้จะเปิดโอกาสให้แพทย์ที่มีอาการใจสั่น เคยหน้ามืดเป็นลม หรือมีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ยังไม่ได้รับการรักษา เข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งแพทย์ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จะได้รับคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ นำทีมโดย ศ.นพ.กฤษณ์ จงนรังสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ จาก University of Michigan ซึ่งบินตรงจากสหรัฐฯ เพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ รวมไปถึงทีมแพทย์เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ จากโรงพยาบาลเมดพาร์คและโรงพยาบาลพันธมิตร กรณีที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง แพทย์ท่านนั้นสามารถเลือกรักษาต่อในโรงพยาบาลเมดพาร์ค และโรงพยาบาลพันธมิตรด้วยสิทธิประกันสุขภาพ หรือพิจารณาส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิต่อไป
ทั้งนี้ โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 (ครั้งที่2) เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน - 31 กรกฎาคม 2568 หรือจนกว่าจะมีผู้สมัครครบ 1,000 ท่าน โดยแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่นี่ หรือสแกน QR CODE
โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ ครั้งที่ 1 พบ 30% ของแพทย์ที่เข้าโครงการมีอาการผิดปกติของโรคหัวใจ
นอกจากนี้ ศาสตราธิคุณ นพ.วสันดต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ได้เปิดเผยผลสำเร็จของโครงการครั้งที่ 1 โดยกล่าวว่า แพทย์เป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และอาจจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ รวมไปถึงภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะได้
สำหรับโครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ ครั้งที่ 1 มีแพทย์เข้าร่วมโครงการ 1,236 คนจากทั่วประเทศ และพบว่า 30% ของแพทย์มีอาการผิดปกติ และแพทย์จำนวน 10 ท่านต้องรับการรักษาโดยทันที โดยเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน 1 คน ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ กรณีที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบมากและหลายตำแหน่ง (CABG) , สวนหัวใจ (CAG)และขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน หรือขดลวด (PCI) จำนวน 3 คน (1 คนในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินด่วน) , สวนหัวใจ 5 คน และฉีดสีตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ (CAG) และเข้ารับการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนหรือขดลวด (PCI) จำนวน 2 คน