posttoday

ผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป! เตรียมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 พ.ค. นี้

25 เมษายน 2568

สำนักงานประกันสังคมจัดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2568 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค. 2568

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ และสามารถลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงของระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงตามอายุ

 

สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2568 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2568

 

ผู้ประกันตนคนไทยสามารถนำบัตรประชาชนใช้เป็นหลักฐานในการเข้ารับบริการ ส่วนผู้ประกันตนต่างชาติให้เตรียมบัตรประจำตัวคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ออกโดยราชการ บัตรประกันสังคมและหนังสือเดินทางสำหรับใช้เป็นเอกสารประกอบการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ ในกรณีผู้ประกันตนที่มีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้วัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

 

ผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป! เตรียมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 พ.ค. นี้

 

 

ไข้หวัดใหญ่ สำหรับสูงวัย เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของโรงพยาบาล BNH ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่ (Flu) เป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างกว้างขวาง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งถึงบุคคลหนึ่งโดยแพร่จากการไอ จามและการสัมผัส อาการจะเกิดอย่างรวดเร็วและอาจเป็นอยู่หลายวัน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีไข้/หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เมื่อยล้าอ่อนเพลีย
  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก

 

ผลกระทบต่อร่างกายในผู้สูงวัย

ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล จากการสำรวจข้อมูลในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอัตราความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงที่สุด คือกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วๆ ไป ดังต่อไปนี้

  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ มากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า
  • เพิ่มความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ มากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า
  • 75% ของคนไข้โรคเบาหวานเกิดปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ
  • 23% ของผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังจากติดเชื้อ

 

ทั้งนี้  โรคไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์อยู่เสมอ โดยในแต่ละปีวัคซีนจะถูกปรับให้เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในช่วงเวลานั้น