ดีอี ผนึก 16 หน่วยงาน เปิดแอป DE fence สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฟรี
รองนายกฯ ประเสริฐ ผนึกกำลัง 16 พันธมิตร ผุดแพลตฟอร์ม DE fence สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชูจุดเด่นแจ้งความออนไลน์ได้ทันที พร้อมเปิดใช้ 1 พ.ค. 68 นี้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงนาม MOU สนับสนุนโครงการ “DE-fence platform” (แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหรือส่ง SMS หลอกลวงประชาชน
จากสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2568 พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 5.19 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน
ปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย
จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ประชุมได้เห็นชอบในการดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง
นายประเสริฐ กล่าวว่า มาตรการนี้ เป็นการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS แนบลิงก์ใหม่ทั้งระบบ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)
การคัดกรองแยกหมายเลขโทรศัพท์ “Blacklist” และ “Whitelist” ออกจากกัน จะเกิดขึ้นไม่ได้หากหลายภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าสถาบันการเงิน ค่ายมือถือ กสทช. ตลอดจน ปปง. โดยมาตรการ “DE-fence platform” นี้ เป็น 1 ในหลายๆมาตรการ ที่กำหนดขึ้นเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งก่อเหตุหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สินของประชาชน ร่วมกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) กล่าวว่า จุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ
นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ทั้งนี้ระบบจะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที
สำหรับ DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ เป็น 3 กลุ่ม คือ
1.Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ
2.Greylist หรือ กลุ่มต้องสงสัย เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย อาทิ การติดต่อจากอินเตอร์เน็ต การติดต่อจากต่างประเทศ หรือ หน่วยงานเกี่ยวข้อง หรือ ประชาชนทั่วไปแจ้งว่าเป็นเบอร์ต้องสงสัย โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว
3.Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หมายเลขโทร 3 – 4 หลัก เช่น 1111
อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายมักใช้ในการหลอกลวงประชาชนก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมหน่วยงานและบริษัทมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือน
ขณะนี้ DE fence อยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยและสามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมาก เนื่องจากประเมินว่าจะมีผู้ใช้ประจำ (active users) กว่า 1 ล้านคน