เปิด 'โรคตา' ที่พบบ่อยในสูงวัย หลังไทยแชมป์ละเลยตรวจสุขภาพตามากสุดในเอเชีย
วิจัยพบไทยครองแชมป์สูงวัยละเลยตรวจสุขภาพตาสูงสุดในเอเชีย และ 1 ใน 5 ไม่เคยตรวจสุขภาพตาประจำปี พร้อมเปิดอาการที่ผู้สูงวัยพบบ่อยและร้ายแรงเกี่ยวกับโรคตา!
โรช (Roche) บริษัทด้านไบโอเทคของโลกทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพสายตาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2567 (Roche APAC Vision Health 2024) พบว่า เกือบ 1 ใน 5 ของวัยกลางคน-ผู้สูงอายุชาวไทยไม่เคยไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ ซึ่งประเทศไทยครองแชมป์ละเลยการตรวจสุขภาพตาสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกที่สำรวจ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยข้อมูลชี้ว่า มากกว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมองว่า การสูญเสียการมองเห็นเป็นเรื่องปกติของวัยชรา
ผลสำรวจของโรชยังเปิดเผยด้วยว่า แม้ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย ประมาณ 3 ใน 4 รับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นในวัยสูงอายุ แต่มีเพียง 50% ของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีที่ตรวจสายตาเป็นประจำ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่าง ในการนำความรู้ความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐกำลังพยายามส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญหลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2567 ผู้สูงอายุคิดเป็น 20.70% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2576 จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเกิน 30% ทำให้ไทยกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society” ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศเผชิญความท้าทายด้านเศรษฐกิจสวัสดิการและสุขภาพที่เกิดจากการเสื่อมถอยที่มาพร้อมวัย
ในขณะที่ ด้านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลคัดกรองผู้สูงอายุ 7 ล้านคนใน 12 เขตสุขภาพพบปัญหาด้านการมองเห็นเป็นความเสื่อมถอยทางสุขภาพที่พบมากที่สุด
โรคทางตาที่ไม่ควรมองข้ามในสูงวัย
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภารดี คุณาวิศรุต จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตา โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ เปิด 4 โรคตาที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้แก่
- ต้อกระจก
- เบาหวานขึ้นจอตา
- จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม
- ต้อหิน
โดยกว่า 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีปัญหาด้านการมองเห็น “สถิตินี้สอดคล้องกับภาพรวมของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้สูงอายุมักมองว่าอาการผิดปกติในการมองเห็นเป็นเรื่องปกติของวัย ทั้งที่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณของโรคตาร้ายแรง หากไม่ได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันเวลาอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวรได้”
โรคจอตาเสื่อมพบบ่อยและร้ายแรงกว่าที่คิด
แพทย์หญิงภารดี กล่าวว่าหนึ่งในโรคตาที่พบบ่อยและร้ายแรงในผู้สูงอายุก็คือ โรคจอตาเสื่อม(Neovascular Age-related Macular
Degeneration หรือ nAMD) โรคนี้เกิดจากการสร้างเส้นเลือดผิดปกติใต้จอตา ซึ่งสามารถรั่วหรือแตกได้ ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวหรือเลือดส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว เป็นภาวะที่ต้องระวังเป็นพิเศษในผู้สูงอายุ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการตามัวหรือมองเห็นจุดดำลอย เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่เร็วพอ อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร
ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาหลายรูปแบบ
- การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ซึ่งส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียว มีส่วนช่วยลดการงอกของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย หรืออาจต้องฉีดบ่อยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นลูกตามีการพัฒนามากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ที่ยับยั้ง 2 กลไกหลักของการเกิดโรค ช่วยทั้งลดการงอกและการรั่วของเส้นเลือด ลดการอักเสบ และเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
- การใช้เลเซอร์ ซึ่งวิธีนี้ช่วยชะลอโรคได้ แต่ไม่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นมากนัก
- การผ่าตัด ซึ่งมิได้ทําในทุกราย จักษุแพทย์จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสภาพการเสื่อมของจอตาของผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษากับจักษุแพทย์เพื่อได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม
“ ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิดว่าอาการผิดปกติในการมองเห็นเป็นเรื่องปกติของวัยหรือจากการใช้สายมาก ทำให้ละเลยการตรวจรักษา ทั้งที่อาการนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น เช่น การรับประทานอาหารลำบาก การหกล้ม และอาจกลายเป็นผู้ป่วย ติดเตียงได้ ” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภารดี กล่าวเสริม
ชี้ควรตรวจสุขภาพตาอย่างช้าตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
นายแมทธิว โคทส์, ผู้จัดการทั่วไป, โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และจากผลสำรวจของเราชี้ว่า หากมีปัญหาสายตา ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกว่าครึ่ง (57.8%) จะกังวลเรื่องสุขภาพจิตซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อีก 42.4% หวั่นคุณภาพชีวิตจะลดลง ซึ่งไม่เพียงบั่นทอนจิตใจ แต่ยังนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่ายา ค่าตรวจ ค่ารักษาเฉพาะทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาเมื่อการมองเห็นบกพร่องจนต้องพึ่งพาผู้อื่น
การป้องกันปัญหาดังกล่าวด้วยการพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุและครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ดูแล (45.4%) ประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากการดูแลผู้ป่วย อีกทั้ง 33% มีรายได้ลดลง และ 36% มีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในภูมิภาค
“เราทำงานร่วมกับจักษุแพทย์และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อจะส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของตาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และกระตุ้นให้สนใจตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น โดยอย่างช้าที่สุดควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งทางภาครัฐมอบสิทธิตรวจสุขภาพตาฟรี ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากมุ่งส่งเสริมสุขภาพตาของผู้สูงอายุแล้ว โรชยังหวังให้คนไทยมีสุขภาพตาที่ดี" นายแมทธิวกล่าวทิ้งท้าย