เปิดแผนระบบเตือนภัยพิบัติผ่านทีวีดิจิทัล - วิทยุ จำเป็นแค่ไหน
กสทช. เร่งทบทวนกฎหมาย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรองรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เผยเตรียมทดลองระบบเตือนภัยผ่านทีวีดิจิทัล 14 พ.ค.นี้
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้ข้อสรุปแล้วถึงระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งระหว่างรอทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทำระบบ Cell Broadcast แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเป็นผู้ให้บริการระบบแบบเสมือนไปก่อน
อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนภัยจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อระบบกันทุกช่องทาง หากระบบใด ระบบหนึ่งล่ม ดังนั้น การแจ้งเตือนภัยผ่านทีวีดิจิทัล และ วิทยุกระจายเสียง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ
ต่อเรื่องนี้ นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ และ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของระบบการสื่อสารผ่านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติของผู้ประกอบการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
ภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีจุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่
เตรียมทดสอบระบบปิดแจ้งเตือนผ่านทีวีดิจิทัล 14 พ.ค.นี้
นางสาวพิรงรอง กล่าวว่า นอกจากเร่งรัดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcasting System Mobile Alert System) แล้ว กสทช. และสำนักงาน กสทช. ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการสื่อสารแจ้งเหตุภัยพิบัติผ่านช่องทีวีดิจิตอลได้อย่างรวดเร็ว และบูรณาการการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนผ่านหลากหลายช่องทาง
พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์
สอดคล้องตามที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อสาธารณะในช่วงเกิดเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรงให้เชื่อมโยงสัญญาณจากแม่ข่ายคือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) หรือกรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ให้ถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ และ สถานีโทรทัศน์อื่นๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาช่องทางในการแจ้งเตือนภัยพิบัติเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (มักซ์) เพื่อให้มักซ์สามารถเป็นจุดรวมในการแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินผ่านช่องทีวีดิจิตอลได้อย่างทันท่วงที และสามารถกำหนดพื้นที่แจ้งเหตุได้ตามพื้นที่ให้บริการซึ่งเกิดเหตุภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning System: EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
อีกทั้งยังอำนวยการให้มีช่องโทรทัศน์ระดับชาติซึ่งมีหน้าที่แจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินทั้งในลักษณะทดลองออกอากาศเพื่อนำไปสู่การให้อนุญาตกับหน่วยงานที่มีความพร้อม และคำนึงถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่ขอรับใบอนุญาตเป็นสำคัญ
นางสาวพิรงรอง กล่าวว่า ในส่วนของ EWS จะมีการทดลองทดสอบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน โดยเป็นระบบปิดบนโครงข่ายเสมือน ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกภายใน 14 พ.ค. 2568
เรื่องการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน EWS และการเตรียมการให้มีช่องโทรทัศน์สำหรับการรายงานและให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยและเตรียมการกันมาพักใหญ่แล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จแต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว
ตอนนี้ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงทีผ่านช่องทางที่หลากหลาย และได้ตกลงกันถึงแนวทางและขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดเนื้อหาไปจนถึงวิธีการเผยแพร่ การทดลองทดสอบจะทำให้มองเห็นทั้งความพร้อม ศักยภาพ และปัญหา อันจะทำให้สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการแจ้งเตือนและให้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
กรมประชาสัมพันธ์พร้อมเป็นแม่งานประสานวิทยุทั่วประเทศ
สำหรับด้านกิจการกระจายเสียง กสทช. ธนพันธุ์ ได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานทั้งของสำนักงาน กสทช.และผู้ประกอบการด้านกิจการกระจายเสียง พบว่า กสทช.ได้เคยออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 แล้ว โดยผู้ประกอบการต้องร่วมมือและออกอากาศเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในประกาศฯ กำหนดเพียงให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำแผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ในการออกอากาศและแจ้งรายชื่อผู้ประสานงาน ให้สำนักงาน กสทช. เป็นประจำทุกปี โดยประกาศฯ ดังกล่าวยังขาดวิธีปฏิบัติในการเชื่อมสัญญาณข่าวที่จะต้องออกอากาศ รวมทั้งความไม่ชัดเจนของภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินตลอดจนหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองและแจ้งข่าวดังกล่าว
เมื่อปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้ ปภ. เป็นหน่วยงานหลักในการออกข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนจึงมีความชัดเจนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองและแจ้งข่าว รวมทั้งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือผ่านระบบ Cell Broadcast แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากสัญญาณเครือข่ายมือถือล่มใช้งานไม่ได้ ประชาชนก็จะไม่ได้รับข่าวดังกล่าว จึงสมควรที่จะดำรงไว้ซึ่งสื่อกระจายเสียงให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ประชาชนสามารถรับข่าวกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งตามกลุ่มเป้าหมายระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เช่นกัน
เบื้องต้นได้มีการประชุมหารือต่อแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายเชื่อมสัญญาณเสียงจากกรมประชาสัมพันธ์กรณีได้รับคำสั่งและข่าวสารจาก ปภ. โดยตรง เพื่อแจ้งข่าวสู่กลุ่มเป้าหมายในระดับใด
ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์มีความพร้อมในการแจ้งข่าวพร้อมกันภายใต้เครือข่ายตนเองจำนวน 104 สถานี (FM 79 สถานี และ AM 25 สถานี) อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดจำกัดของเทคโนโลยีอนาล็อกทำให้ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่หรือกำหนดเป้าหมายพื้นที่ได้ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการในระยะสั้น กลาง และยาว ดังนี้
1.ระยะสั้น: เชื่อมสัญญาณข่าวจากการกระจายเสียงโดยตรงจากสถานีที่ใช้แจ้งเตือนภัย 5 สถานี AM หลัก (ภาคกลาง 1467 kHz ภาคอีสาน 621 kHz ภาคเหนือ 549 kHz ภาคใต้ 1242 kHz และ กรุงเทพฯ 891 kHz) ที่ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศแต่อาจจะมีคุณภาพเสียงไม่ชัดเจน หรือจากสถานีอื่นที่รับสัญญาณในพื้นที่ นั้นได้แล้วแต่กรณี เพื่อแจ้งข่าวต่อไป
สำหรับการกำหนดเป้าหมายพื้นที่เป็นแบบ Manual และมีการเชื่อม สัญญาณข่าวผ่านทางออนไลน์เป็นทางเลือกสำรอง อย่างไรก็ตามทางเลือกดังกล่าวอาจมีข้อขัดข้องกรณี โครงข่ายอินเทอร์เน็ทหรือสัญญาณมือถือมีปัญหาหรือไม่ครอบคลุม
2.ระยะกลาง: เชื่อมสัญญาณข่าวจากสัญญาณดาวเทียมที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีการส่งสัญญาณไปสู่เครือข่ายของตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายอื่นต้องมีอุปกรณ์ที่รับสัญญาณดาวเทียมเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาระ้บการกำหนดเป้าหมายพื้นที่แบบอัตโนมัติที่กำหนดรหัสการรับสัญญาณแต่ละสถานี ซึ่งจะตัดปัญหาในเรื่องการรับสัญญาณให้มีความเสถียรและครอบคลุมได้ทั่วประเทศจากแผนระยะสั้น
3.ระยะยาว: พัฒนาโครงข่ายวิทยุดิจิทัลในระบบ DAB+ ซึ่งจะเป็นการกระจายเสียงที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เช่นเดียวกับสัญญาณมือถือ รวมทั้งมีขีดความสามารถในการส่งข้อความสั้นหรือรูปภาพและการตัดสัญญาณเสียงได้ทันทีกรณีที่ต้องการแจ้งข่าวด่วนหรือรูปภาพไปยังเครื่องรับวิทยุ เพื่อเป็นโครงข่ายสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
การพัฒนาการแจ้งเตือนภัยด้วยเทคโนโลยี Cell Broadcast เป็นสิ่งที่ดีและสามารถเข้าสู่ประชาชนได้โดยตรง อย่างไรก็ตามในทุกประเทศจำเป็นต้องมีช่องทางสำรองอื่น กรณีที่โครงข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นล่มหรือมีปัญหาก็จะไม่สามารถรับข่างดังกล่าวได้
ดังนั้นช่องทางการแจ้งเตือนภัยทางด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ยังมีความจำเป็นและต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการเร่งรัดจัดทำคู่มือการปฏิบัติให้ผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ถูกต้องชัดเจนในแผนระยะสั้น และประกาศที่เกี่ยวข้องตามแผน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนยิ่งขึ้นต่อไป
พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้มีข้อสังเกตและข้อสั่งการเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ต่อสำนักงาน กสทช. โดยให้ติดตาม และตรวจสอบความล่าช้าจากการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ด้านการกำกับดูแลงานเพื่อการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านการสื่อสารที่เคยมีมติให้ประสานงานและดำเนินงานไว้แล้วว่าเกิดจากปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงคู่มือมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure SOP) ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินกรณีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อการทดลองหรือทดสอบออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หมายเลข 1 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน โดยให้หน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนภัยกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ยื่นขออนุญาตเข้ามาใหม่
พร้อมกันนี้ บอร์ดกสทช. ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบ ทบทวน หรือพิจารณาภารกิจภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ที่เกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ได้แก่
กฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินว่าสามารถใช้บังคับได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หรือควรดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ให้ศึกษาและเสนอมาตรการรองรับกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน อาทิ
แนวทางการจัดสรรทรัพยากรกรณีจำเป็นเร่งด่วน แนวทางการอนุญาตให้นำเข้าหรือใช้อุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อใช้ชั่วคราว การอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Rights) หรือการจัดสรรหมายเลข 4 หลัก เป็นต้น รวมทั้ง ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคลื่นความถี่ย่านต่ำที่ไม่มีการใช้งานมาใช้เป็นช่องทางการสื่อสารในกรณีภัยพิบัติหรือความมั่นคง
นอกจากที่กล่าวมา บอร์ด กสทช.ยังสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงแผนการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมบรรเทาสถานการณ์ เพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะและคุ้มครองประชาชนในช่วงเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติให้เกิดความชัดเจนสอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับความเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ และนำกลับมาเสนอที่ประชุม ภายใน 45 วัน