posttoday

LGBTQIA+ กลายเป็น ‘ขุมทรัพย์เศรษฐกิจใหม่’ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้าน

28 เมษายน 2568

ถอดรหัสหัวใจหลากสี LGBTQIA+ มากกว่า 5.9 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากรไทยกำลังกลายเป็น ‘ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจใหม่’ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มกว่า 152,000 ล้านบาท

ประเสริฐ ธนัชโชคทวี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU กล่าวว่า จากผลวิจัย “Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” เจาะอินไซต์พฤติกรรมกลุ่ม LGBTQIA+ของ CMMU ระบุว่า หลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในปี 2568

 

ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 5.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 9% ของประชากรทั้งประเทศจะกลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีแนวโน้มใช้จ่ายสูง

 

และคาดการณ์ว่า หลัง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมบังคับใช้ จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน สร้างรายได้ 152,000 ล้านบาท และส่งผลให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้น 0.3%

 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ไทยยังติดอันดับใน Top Quartile ของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ จาก 213 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มนี้ในประเทศไทย

 

และจากผลวิจัยยังพบว่า กลุ่ม LGBTQ+ อยากมีลูกสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไปและตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยมีมูลค่า 6.3 พันล้านบาท โตขึ้น 6.2% รวมถึงการซื้อคอนโดมิเนียมและบ้านจากคู่ LGBTQIA+ เพิ่มขึ้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 15-20%

 

พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงตัวตน การได้รับการยอมรับ และเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ได้มองเพียงแค่ “คุณภาพ” หรือ “ราคา” แต่ให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์” ที่ได้รับจากแบรนด์ที่มีความเข้าใจและเคารพความหลากหลายอย่างแท้จริง

 

งานวิจัยเปิดเผย พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของชาว LGBTQIA+ 

 

1.ด้านการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ : 56.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ อยากจัดงานแต่งงาน โดย 48.7% นิยมจัดงานที่โรงแรม ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า เป็นกลุ่ม Gay Gen Z มากที่สุดถึง 64.9% และนิยมจัดงานขนาดกลาง (50-100 คน) 54.4%

 

ส่วนงบประมาณในการจัดงานเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000-500,000 บาท และที่น่าสนใจคือ 4.7% ของกลุ่มนี้มีการวางแผนใช้งบประมาณมากกว่า 1 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่ม Gay Gen Z
 

 

2.ด้านการท่องเที่ยวและฮันนีมูน : 51.8% กลุ่ม LGBTQIA+ มีความสนใจและวางแผนไปฮันนีมูนหลังแต่งงาน โดยมี Lesbian สูงถึง 35.2% ที่ชื่นชอบการไปฮันนีมูน และ Lesbian Gen Y นิยมไปฮันนีมูนในเอเชียมากที่สุด 46.9% รองลงไปคือภายในประเทศ 32% และยุโรป 21.1% สำหรับที่พักที่นิยมสำหรับฮันนีมูน Private Villa 40.6% , โรงแรมหรู 31.3%

 

ผลวิจัยยังระบุว่า กลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 20,000-50,000 บาทต่อปี เฉลี่ยท่องเที่ยว 3-5 ครั้งต่อปี โดยกลุ่ม Gay Gen Y มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงที่สุดอยู่ที่ 20,000-50,000 บาท

 

ผลวิจัยยังพบว่า 54% ของกลุ่ม Gay Gen Z ชอบให้เอเจนซี่วางแผนฮันนีมูนให้มากกว่าวางแผนด้วยตัวเอง ขณะที่ 33% ของกลุ่ม Gay Gen Z นิยมเลือกจุดหมายปลายทางประเภท Beach & Sea share
 

3.ด้านการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร : 54% ของกลุ่ม LGBTQIA+ วางแผนมีบุตรภายใน 2 ปี หลังแต่งงาน โดยกลุ่ม Lesbian Gen Z มีความต้องการมีบุตรสูงที่สุด และผลวิจัยยังพบว่า 12.9% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการใช้บริการธนาคารฝากเซลล์สืบพันธุ์ในการมีบุตร โดยทางเลือกในการมีบุตรของกลุ่ม LGBTQIA+ มีหลากหลาย เช่น

 

การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000-500,000 บาท, การตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายสูงถึง 1-2.5 ล้านบาทหรือมากกว่า และการรับบุตรบุญธรรมที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่ 5,000-10,000 บาท

 

งานวิจัยยังชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการมีบุตรของกลุ่ม LGBTQIA+ สอดคล้องกับงบประมาณที่วางแผนไว้ที่ประมาณ 500,000-1,000,000 บาท

 

4.ด้านการเงิน ที่อยู่อาศัย และการลงทุนร่วม : 54% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และพบว่า กลุ่ม Lesbian มีความต้องการสูงที่สุด โดยในจำนวนนี้ 79.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ เลือกซื้อที่อยู่เป็นบ้านเดี่ยว และ 20.9% เลือกย้ายไปอยู่กับคู่รัก โดยมีงบประมาณเฉลี่ย 3-5 ล้านบาท

 

ขณะที่กลุ่ม Lesbian Gen Z สนใจซื้อคอนโดมิเนียมสูงถึง 44% ส่วนกลุ่ม Gay Gen Z และ Others Gen Z สนใจบ้านเดี่ยวมากกว่า 40% นอกจากนี้ 86% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมองหาสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% โดยกลุ่ม Lesbian Gen Y และ Gay Gen Z ยอมรับดอกเบี้ยได้สูงถึง 7.01-10%

 

สำหรับด้านการวางแผนการเงินพบว่า กลุ่ม Lesbian วางแผนการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุด ขณะที่กลุ่ม Gay วางแผนการเงินเพื่อยานพาหนะมากที่สุด และกลุ่ม Others วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุและแปลงเพศที่ 2.9%
 

ผลการวิจัยยังพบว่า 55% ของชาว LGBTQIA+ เลือกที่อยู่อาศัยโดยให้ความสำคัญกับ ‘ทำเลและความปลอดภัย’ เป็นหลักโดย 30% ของ Gay Gen Z เลือกทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้า และ 56% มีแนวโน้มกระจายตัวอาศัยนอกเขตธุรกิจ


5.ด้านสุขภาพและประกันภัย  พบว่า 48.6% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายกับประกันในช่วง 10,000-30,000 บาทต่อปี โดยประกันสุขภาพเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gay Gen Y มากที่สุด ประกันชีวิตแบบระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นที่ต้องการของกลุ่ม Lesbian Gen Y มากที่สุด และประกันการเดินทางเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gay Gen Z มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในการท่องเที่ยว


นอกจากนี้ กลุ่ม Lesbian สนใจบริการศัลยกรรมแปลงเพศ 8.7% มากกว่ากลุ่ม Gay ที่สนใจเพียง 3.5% และยังมีความต้องการบริการด้านสุขภาพจิต บริการด้านสุขภาพทางเพศสำหรับ LGBTQIA+และการตรวจสุขภาพทั่วไปอีกด้วย

 

6.ด้านพฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อแบรนด์ พบว่า 77% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้ปัจจัยด้านราคาและคุณภาพเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ โดย

 

กลุ่ม Gay Gen Y เน้นคุณภาพมากกว่าราคา
กลุ่ม Lesbian Gen Y มองภาพลักษณ์มากกว่า ‘ราคา’
กลุ่ม Others Gen Y กว่า 61% เป็นกลุ่ม Price-Sensitive ที่อ่อนไหวต่อราคา

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 23% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้ประสบการณ์ด้านบริการเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ โดยบริการที่เป็นที่ต้องการในกลุ่ม LGBTQIA+ ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย, บริการการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร และบริการแพทย์เฉพาะทาง/คลินิกพิเศษเฉพาะกลุ่ม
 

กลุ่ม Lesbian Gen Z นิยมออกเดทมากที่สุด โดย 77.8% ของกลุ่มนี้ออกเดท ส่วนที่เหลือไม่ออกเดท และยังพบว่า กลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000-5,000 บาทต่อเดือนในการออกเดท โดย 22.46% มีการใช้จ่ายสูงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน