บอร์ดพาณิชย์ฯ สั่งลุย Quick Win ปั้น SMEs สินค้าชุมชน OTOP ขายออนไลน์
คณะอนุพาณิชย์อิเล็กทรกนิกส์ เคาะแผน Quick Win ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 4 แผนงาน ตั้งเป้าดัน SMEs สินค้าชุมชน OTOP ขายออนไลน์ได้จริงไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นรายต่อปี ยกระดับความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม ส่งเสริมใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า และพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรกนิกส์ Big Data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า กระทรวงพาณิชย์ ครั้งที่ 2ว่าการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา โดยเห็นชอบแผนขับเคลื่อนรวม 4 แผน ได้แก่
1.การพัฒนาผู้ประกอบการและช่องทางการค้าออนไลน์ในประเทศและข้ามพรมแดน
2.การสร้างและส่งเสริมอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า
3.การยกระดับความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
4.การส่งเสริมการบูรณาการและการใช้ประโยชน์จาก Big Data และระบบข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งมีการจัดทำข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ NECTEC และแนวทางความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์
สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการและขยายช่องทางการค้าออนไลน์ทั้งในประเทศและข้ามพรมแดนได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ตลอดจนสินค้าชุมชน OTOP ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงสามารถขายสินค้าและบริการออนไลน์ไม่น้อยกว่า 5,000 ราย ต่อปี เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 25,000 ราย ต่อปี โดยมีแผนช่วยเหลือตั้งแต่การฝึกอบรม การทำตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ การทำคลิปสั้น การไลฟ์สด การส่งเสริมการขายบนร้าน Top Thai การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น
ทางด้านการสร้างและส่งเสริมอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า จะเดินหน้าการส่งเสริมและพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้าในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการของไทยผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ การบูรณาการโครงการที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์หรือ KOL ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่ร่วมมือกับผู้นำเข้าและห้างสรรพสินค้า ณ ประเทศนั้นๆ เพื่อส่งเสริมกระตุ้นการซื้อโดยมีตะกร้าสำหรับผู้ติดตามหรือผู้สนใจสามารถซื้อได้ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลอินฟลูเอนเซอร์พาณิชย์จังหวัดกับทูตพาณิชย์ และร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง ทำการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในลักษณะของการ live เพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมาย ต้องมีสถิติการรับรู้สินค้าและบริการไทยผ่านอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้าอย่างชัดเจน
ส่วนการยกระดับความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ตั้งเป้าออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 13,000 ราย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทยให้สอดคล้องตามข้อบังคับว่าด้วยด้วยการใช้เครื่องหมาย "DBD Registered" โดยผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้ ยกระดับกลไกการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ อาทิ การออกเครื่องหมายรับรองผู้ขายออนไลน์ การกำกับดูแลทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภคทางออนไลน์ การกำหนดแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นต้น
ทางด้านการส่งเสริมการบูรณาการและการใช้ประโยชน์จาก Big Data และระบบข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ของกระทรวงพาณิชย์เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน มีการพัฒนา Dashboard ด้าน E-Commerce โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญให้ผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ภายในกระทรวงพาณิชย์ให้เป็น One Single Platform เพื่อให้เกิดความง่ายต่อการใช้งาน และสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อย (Data Center Development)
ส่วนการจัดทำข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ NECTEC และแนวทางความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ NECTEC ได้จัดทำระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map) เป็นการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตร ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงแก้ไข และเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา (Adaptive Data) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถนำไปใช้แนะนำแก่เกษตรกร ในการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในแต่ละจังหวัด ให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและความต้องการของตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี