"เสถียร เสถียรธรรมะ" ยึด 3 มุมคิดสร้างธุรกิจครอบครัวโตยั่งยืน

04 กุมภาพันธ์ 2567

"ความรัก - ความสุข - ไม่ยึดติด" 3 แนวคิดเสริมโครงสร้างครอบครัวแข็งแกร่ง เพิ่มแรงดันธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แบบฉบับ "เสถียร เสถียรธรรมะ" เจ้าพ่ออาณาจักรคาราบาวกรุ๊ป

     คำว่า "ธุรกิจครอบครัว" ไม่ว่าจะมองในมุมของธุรกิจหรือมุมไหนก็ตาม มีอยู่ 3 เรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ เรื่องแรก คือ "ความรักของคนในครอบครัว" ถ้าเรายังสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ "ธุรกิจ" ที่เราสร้างใหญ่โตมโหฬารก็ไม่มีความหมาย แน่นอนว่าตอนที่เราไม่มีเงิน เราจะรู้สึกว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่าให้เงินมาทำร้ายเรา

     "ผมคิดว่าถ้าครอบครัวสามารถที่จะเริ่มจากความรักนั้น ความรักจะให้ทุกอย่าง ทั้ง แนวทาง, โอกาส, ความเอื้ออาทรต่อกัน วันหนึ่งพี่น้องเรากำลังลำบาก ลูกหลานเราลำบาก เราจะรู้สึกยังไง เราไปสร้างวัด ทำอะไรเยอะแยะ แต่เคยหยิบยื่นอะไรให้พี่น้องตัวเองหรือไม่ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ"

\"เสถียร เสถียรธรรมะ\" ยึด 3 มุมคิดสร้างธุรกิจครอบครัวโตยั่งยืน      "เสถียร เสถียรธรรมะ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และประธานกรรมการ บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด กล่าวในงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย : ในโลกความเปลี่ยนแปลง” 

     โดยเรื่องที่ 2 ที่ผมให้ความสำคัญก็คือ "ความสุข" ตอนที่ผมทำงานก่อร่างสร้างตัว ทำงานค่อนข้างหนัก แม้ตอนนี้ลูกของผมเข้ามาช่วยทำงาน แต่บางทีก็รู้สึกว่าหยุดงานบ่อยเหลือเกิน ไปโน่นไปนี่บ่อย แต่สุดท้ายแล้วผมก็มองว่า "ถ้าเขายังดำเนินชีวิตและมีความสุข นั่นต่างหากที่สำคัญ" ดังนั้นเรื่อง "ความรัก และ ความสุข" จะทำให้ครอบครัวเดินต่อไปได้

      "ต่อให้เรามีทรัพย์สินใหญ่โตมโหฬารไม่มีใครเชื่อหรอกครับว่ามันจะอยู่ตลอด แม้กระทั่งธุรกิจผม ซึ่งผมคุยกับลูกว่า ถ้าพ่อไม่อยู่ พวกมึงทำไม่ไหว ขายเลย! อย่าบอกว่ายังไงก็ต้องรักษาไว้ มันไม่จริงครับ ผมว่าพวกเราเป็นชาวพุธก็พอรู้ว่าทุกอย่างมันคือ "อนิจจัง" และอย่าเอาความยึดมั่น ถือมั่นกับเรื่องสิ่งต่างๆมาทำร้าย"

     เรื่องสำคัญอันดับ 3 ของผม คือ ทุกวันเมื่อดำเนินชีวิตอยู่ต้องบอกกับตัวเองว่า "เราอาจจะไม่ได้คิดถูกตลอด" ดังนั้นเวลาที่ลูกๆไม่เห็นด้วยก็จะคิดเสมอว่าตัวเองอาจคิดไม่ถูก พอคิดว่าเราไม่ถูกขึ้นมา ความรู้สึกมันเบาขึ้น เพราะถ้าเรามัวแต่คิดว่าเขาไม่ถูก มันจะหนัก เพราะเราจะไปแก้ที่เขาได้อย่างไร 

     ดังนั้น "ผมจึงให้ความสำคัญเรื่อง ความรัก ความสุข และไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เราเชื่อหรือคิด" ทำให้ครอบครัวเดินไปได้ ธุรกิจมันก็เดินไปของมัน ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อย่าไปเดือดร้อนมาก

     "ผมทำงานหลายอย่าง เคยเดินออกมาแล้วรู้สึกว่าเหนื่อยมากเลย กำลังจะขึ้นรถ แล้วนึกในใจว่าทำไมเรารู้สึกทุกข์ขนาดนี้ พอกำลังจะก้าวขาขึ้นรถ ถ้าผมไปบอกใครว่าผมทุกข์คงมีคนบอกผม "อยากขอเป็นคุณเสถียรสัก 7 วัน" พอคิดอย่างนี้ เอาจริงๆก็คิดตลอด มันไม่ได้ข้อสรุปภายในวันเดียว ผ่านการต่อสู้ทางความคิด ผ่านความยากลำบาก การต่อสู้ที่ยากลำบากที่สุดคือการต่อสู้ทางความคิด ผมอยู่ป่า 4 ปีครึ่ง อย่างน้อย 2 ปีหลังไม่เคยเห็นเม็ดข้าวเลย ไม่เคยได้กินข้าวเลย ก็ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอมาอยู่ข้างนอก ทำงานหากินลำบาก ไม่เทียมหน้าเทียมตาใครเขา บาดแผลทางด้านจิตใจมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากสู้ต่อ

     แต่ว่าพอเราผ่านมันมาเรื่อยๆ วันหนึ่งที่ผมมีงานตั้งเยอะแล้วก็เป็นทุกข์ นอนไม่หลับอะไรต่างๆ ฟังธรรมะทุกวัน ฟังทุกคืน กล่อมให้หลับ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ฟังเรื่อยๆค่อยๆซึมซับ พอเรามีสติก็รู้สึกว่าเราเคยฟังแล้วแรกๆอาจไม่เข้าใจ พอฟังอีกก็เข้าใจมากขึ้น วันหนึ่งจึงได้เข้าใจว่า ไอ้ที่เราทุกข์ทั้งหมด เรื่องงานที่เยอะมาก ซึ่งงานเยอะคือเรื่องจริง แต่ความทุกข์นี่เป็นเรื่องปรุงแต่ง ผมพูดได้ แต่ไม่ใช่ทำได้แบบนี้ทุกวัน แต่ค่อยๆทำได้มากขึ้นๆ ดังนั้นผมจึงเชื่อเรื่อง "ความสุขเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราถามตัวเองว่าทำสิ่งเหล่านี้มีความสุขหรือไม่ ดังนั้น ความรัก ความสุข ไม่ยึดมั่น จึงเป็นเรื่องสำคัญ"

     ถามว่า เตรียมตัวส่งไม้ต่อธุรกิจให้รุ่น 2 อย่างไรไม่ให้ทะเลาะ ?  

     เรามาดูในเรื่องของ "ธุรกิจ" ก่อน ผมคิดว่าพอทำธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง เราจะคาดคะเนได้ว่าธุรกิจของเราจะเติบใหญ่ได้แค่ไหน และแน่นอนว่าอยากให้ลูกๆเข้ามาสืบทอดธุรกิจที่เราทำ อีกด้านหนึ่งเราก็เชื่อว่าธุรกิจเราใหญ่พอที่จะให้ลูกๆเข้ามาบริหารและเลี้ยงดูครอบครัวได้ ดังนั้นตั้งแต่ที่ลูกๆผมยังเล็ก ผมจะพามาที่โรงงาน มาดู มาวิ่งเล่น พอลูกๆโตขึ้นช่วงปิดเทอมจะพยายามชวนเขามาทำงาน ทำโน่นนี่ ไปอยู่กับพนักงานในระดับล่างเพื่อให้เขาคุ้นชินว่าเขาทำงานกันอย่างไร 

     มาถึงจุดนี้เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ยอมรับว่านี่เป็นความกังวลส่วนตัวของผมเอง คือ ผมกังวลว่าวันหนึ่งลูกผมไม่รู้จักเรื่อง "คน" เพราะว่าไม่เคยเห็นความยากลำบาก คนต้องเข้าใจความยากลำบากจึงจะเข้าใจคน คนที่ไม่เข้าใจคนก็เพราะว่าเขาไม่เคยยากลำบากมาก่อน 

     "ถ้าเรายากลำบากมาก่อน เราจะเข้าใจคนจะรู้จักบริหารคน ปกครองคน ดังนั้นคนที่ทำงานที่ออฟฟิศผม ลูกผม 3 คนเดินมา ถ้าไม่มีใครบอกก็จะไม่มีใครรู้ว่านี่คือลูกของผม เพราะแต่งตัวกลมกลืนเหมือนพนักงานทั่วไป อันนี้เป็นเรื่องที่เราค่อยๆฝึกฝนให้เขารู้จักเรื่องของคน"

     ต่อมาในเรื่องของความเป็น "พี่น้อง" ทำอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน สิ่งที่เราทำได้คือ ต้องปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กว่า "พี่น้องต้องรักกัน"เป็นอย่างไร ทีนี้การปลูกฝังมันไม่ใช่แค่การไปพูดให้ฟัง หรือ เวลาที่พี่กับน้องทะเลาะกัน เราจะไปบอกว่าให้น้องยอมพี่ หรือ ให้พี่ยอมน้อง หรืออะไรก็ไม่ใช่ แต่สิ่งที่เราต้องทำให้เขาเห็นก็คือ "เรารักพี่รักน้องอย่างไร" 

     ก่อนอื่น เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราปฏิบัติกับพี่น้องเราอย่างไร ? อย่างตัวผมเองมีพี่น้อง 10 คน มีพี่สาว 5 คน และพี่ชาย 4 คน ซึ่งตัวผมมีฐานะดีกว่าคนอื่นๆ ซึ่งในช่วงตรุษจีนทุกปีต้องคิดจะให้แต๊ะเอียพวกเขาเท่าไหร่เพื่อให้เขาอยู่ได้ หรือน้องคนนี้ทำงานมีรายได้ไม่พอเพียง ลูกหลานเป็นอย่างไร ตรงนี้เราต้องดูแล ซึ่งในส่วนตัวผมก็ดูแลพ่อตาแม่ยายก็มาอยู่ด้วยกัน พี่สาวพ่อตาผมก็เอามาอยู่ด้วย แม่ยายมีลูกคนเดียว มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรอให้ลูกสะไภ้หรือลูกชายเรามาขอให้แม่ยายมาอยู่ด้วย เพราะลูกสาวเขาคนเดียวมาอยู่กับเรา พอมีหลานเราก็มีเหตุผลที่จะชวนแม่ยายของลูกชายให้มาอยู่ด้วยกัน 

     ผมว่าการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตปัจจุบันนี้ ความรักที่เรามีต่อพี่น้อง กับพ่อแม่จะค่อยๆออกผล ดังนั้นก็เป็นธรรมดาเมื่อลูกโตแล้วไม่ได้ดั่งใจเราก็คงจะบ่นบ้าง เวลาบ่นน้องให้พี่ฟัง พี่ก็จะบอกว่าน้องยังเล็กอยู่ หรือบ่นพี่ให้น้องฟัง น้องก็จะบอกว่าเขายังไม่เข้าใจ ก็จะไม่เคยได้ยินว่าพี่ชายกระหน่ำน้องชายแต่อย่างใด

     ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ "การเลี้ยงดู การที่เราปฏิบัติให้เขาเห็นความรัก ความเข้าใจในครอบครัว" ครอบครัวก็จะรักกัน พอเวลาทำงานก็ต้องพยายามที่จะให้ลูกๆร่วมกันคิด แบ่งกันรับผิดชอบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทที่ผมทำจะเรียกว่าขนาดธุรกิจค่อนข้างใหญ่ ซึ่งการที่จะให้ลูกๆเข้ามารับผิดชอบหรือแบ่งกันดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำ

     เพราะโดยส่วนตัวผมก็จะบอกกับลูกว่า "ผมไม่เชื่อว่าอย่างธุรกิจคาราบาวแดงผมให้ลูกคนหนึ่งไปดู ธุรกิจซีเจให้ลูกอีกคนดู และตอนนี้ผมมีโรงเหล้าโรงเบียร์ ให้ลูกอีกคนไปดู เป็นไปไม่ได้มันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะดูเพียงคนเดียว แต่ถ้าเขาทั้ง 3 คนค่อยๆรับรู้ อีก 1ปี 2 หรือ 3 ปีเขาก็จะค่อยๆเข้าใจ ดังนั้นคำตอบเรื่องนี้ก็คือ "มันอยู่ที่การเลี้ยงดู ต้องวางแผน ต้องตั้งใจ ถือเป็นงานที่ยากอย่างหนึ่งในชีวิตของคนรุ่นเรา"

\"เสถียร เสถียรธรรมะ\" ยึด 3 มุมคิดสร้างธุรกิจครอบครัวโตยั่งยืน      จงเตรียมความพร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลง ?

     ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนหลายด้าน แต่สิ่งที่พวกเราเห็นและรู้สึกได้ว่ามีผลกระทบต่อเราและมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างมาก นั่นก็คือ "การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี" ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเราก็ใส่ใจ เพราะเมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่จะต้องเปลี่ยนตาม อย่างที่ผ่านมาเราจะเห็นหลายบ้านมีของมาส่งออนไลน์เยอะมาก นี่ก็คือเทคโนโลยีอันหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยน อย่าง ตัวลูกของผมเองช่วงวันหยุดอยู่บ้านสั่งกาแฟสตาบัคให้มาส่ง ซึ่งรุ่นผมไม่มีทางเพราะค่าส่งแพงกว่ากาแฟ

     ยิ่งตอนนี้เราเห็นการเข้ามาของ AI ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีอะไรต่างๆมากมาย ชัดเจนมากว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นเรื่องที่เราไม่รับรู้ไม่ได้ มันจะกระทบกับเราไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยพัฒนาสู่สังคมโลก สังคมธุรกิจของโลก กฎระเบียบของโลก กติกาของโลกมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตอนนี้บ้านเราพูดเรื่อง ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ปรับตัวจะทำให้ธุรกิจเดินไปได้ยาก 

     "ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน หากเรายังเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบเก่า ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบต่อสังคม คุณไม่มีทางได้คนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทำงาน เพราะคนรุ่นใหม่ๆเขาได้รับการศึกษาในยุคโลกาภิวัต เขารับรู้ว่าโลกนี้มันเชื่อมโยงกัน ผลกระทบต่างๆมันส่งผลกระทบต่อสังคม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎกติกาของโลกที่มันจะส่งผลมาถึงองค์กรเรา ธุรกิจเรา มันเชื่อมโยงกันทั้งหมด ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้" 

     อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราต้องมาดูจริงๆว่าธุรกิจของเรามันเกี่ยวข้องหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอะไรที่กระทบกับเรา ถ้าไม่นับเรื่องของกฎระเบียบของโลกต่างๆ ผมคิดว่าในแง่ธุรกิจที่ผมทำ สิ่งสำคัญ คือ "เรื่องเทคโนโลยี และ AI" ต่างๆ โดยเฉพาะ "ธุรกิจค้าปลีก" ที่เราทำ ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากใช้เทคโนโลยี เราจะพัฒนาธุรกิจเข้าไปแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างรวดเร็ว และการที่เรามาทีหลัง เราไม่มีภาระเรื่องเทคโนโลยีเก่าๆดังนั้นการปรับเปลี่ยนจึงทำได้ง่ายกว่าเดิมมาก 

     "ยกตัวอย่างที่ผมทำคาราบาวแดงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังจากที่เรามีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โรงงานเก่าตอนที่ทำตอนนั้นเรายังจนอยู่ เทคโนโลยีก็จะเก่า สถาวะแวดล้อมไม่ได้เอื้อต่อการบริหารจัดการต้นทุน วันหนึ่งผมตัดสินใจปิดโรงงาน แล้วมาตั้งโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ เดิมเรามีไลน์ผลิตคาราบาวแบบขวดหรือกระป๋องราว 250 กระป๋องหรือขวดต่อนาที แต่พอเราใช้เทคโนโลยีใหม่ มีอัตราการผลิตที่ประมาณ 1,200 ขวดหรือกระป๋องต่อนาที

     และเมื่อผมทำโรงงานผลิตกระป๋องร่วมกับญี่ปุ่น สามารถผลิตได้ 2,700 กระป๋องหรือขวดต่อนาที บางทีเราจินตนาการไม่ออกว่าไลน์ผลิตมันเร็วแค่ไหน ผมในฐานะคนเคยอยู่ป่า เวลาเราถือปืน M16 ยิงได้นาทีละ 500 นัด ของเราผลิตได้ 2,700 เร็วกว่ายิงปืน 5 กระบอก ดังนั้นเรื่องเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคิดว่าการเข้ามาของ AI ขณะนี้เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ" 

     แต่.. อย่าคิดว่าเทคโนโลยีเป็นคำตอบทั้งหมด เราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เราจะเห็นหลายครอบครัวมักจะมีเรื่องขัดแย้งระหว่างลูกกับพ่อ คือ ลูกอยากใช้เทคโนโลยีใหม่ๆแต่พ่อบอกว่าอยากใช้เทคโนโลยีใหม่ก็ได้แต่ไม่ควรต้องมีราคาแพงขนาดนี้ แล้วลูกก็จะรู้สึกว่ามันต้องเป็นแบบนี้มันถึงจะเป็นคำตอบ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่ผมบอกว่าไม่ควรคิดว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกเสมอ

     สุดท้ายนี้ สูตรสำเร็จของธุรกิจครอบครัวคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯใช่หรือไม่ ? 

     ผมมองว่าถ้า "ธุรกิจครอบครัว"ใหญ่พอก็ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ถ้าธุรกิจยังเล็กมากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอาจไม่เป็นประโยชน์มากเพราะอย่าลืมว่ามันมีค่าใช้จ่ายและอื่นๆอีกมากมาย

     ข้อดีหาก "ธุรกิจครอบครัว"เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างน้อยที่สุดก็คือ กฎกติกาและข้อบังคับต่างๆของตลาดหลักทรัพย์ฯทำให้ทุกอย่างโปร่งใส แม้กระทั่งผู้สอบบัญชีก็ต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้มาตรฐานและมีกรรมการอิสระ ฯลฯ นั่นจะช่วยลบข้อครหาหรือความกินแหนงแคลงใจต่างๆได้ 

     "ที่ผมพูดเรื่องนี้เพราะแรกๆเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่ทำคาราบาวแดงที่ร่วมกันทำ 3-4 คน อย่างตัวพี่แอ๊ดเองก็ไม่ได้บริหาร แต่มาช่วยด้านการตลาด ตอนนั้นบริษัทยังเล็กๆยังไม่รู้ว่าจะอยู่รอดหรือเปล่า เรามีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 200 ล้านบาท และผมก็บอกว่าเราควรจะจ้างบิ๊กโฟว์เป็นผู้สอบบัญชี ซึ่งหลายคนก็คัดค้าน ผมบอกว่าอย่างน้อยที่สุดก็เหมือนซื้อประกันการทดลองงานเพราะผู้สอบบัญชีจะเป็นคนตอบแทนเราว่าบัญชีนี้มันถูกต้องหรือไม่

     และอย่างน้อยถือว่าซื้อประกันเรื่องที่จะไม่เกิดการทะเลาะบาดหมางกันโดยที่ไม่มีกรรมการ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ว่าถ้าเรามีกฎกติกาแม้กระทั่งเป็นหุ้นส่วนก็ยังลดความขัดแย้ง ยิ่งในหมู่พี่น้องผมยิ่งคิดว่าถ้าสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ควรจะเข้าเพราะเป็นกลไกอันหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับคนที่มีโอกาสที่จะใช้กลไกของตลท.ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของตัวเอง"

     ท้ายที่สุดนี้ เวลาที่ผมพูดกับพนักงาน ผมจะพูด 2 เรื่อง คือ "ความรัก และ ความสุข" ถ้าเราเริ่มทุกอย่างจากความรักจะแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ผมเชื่อว่าความรักสำคัญ แล้วเมื่อเราคิดว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคือ "ความสุข" เราก็จะร่วมกันอยากได้ความสุขมากกว่าอย่างอื่นที่มันได้น้อยลงหน่อยก็ได้ ผมเชื่อเรื่องเหล่านี้

     และผมอยากจะบอกว่าทำธุรกิจแล้ว เรื่องหนึ่งที่ต้องเตือนตัวเองทุกวัน คือ "อย่าโลภ" เพราะความโลภทำให้ชิ_หายทุกครั้ง ฝากไว้ให้คิด

Thailand Web Stat