อีอีซีและส.อท.หนุนผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรมขยายลงทุนอุตฯเป้าหมาย
อีอีซีจับมือส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการพื้นที่ EEC ผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ บริการ คู่แหล่งเงินทุน ยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเทียบสากล
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การพัฒนาสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ระหว่าง สกพอ. และ ส.อ.ท. โดยมีนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบบเงิน สกพอ. และ ดร. วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองประธาน ส.อ.ท. เป็นพยาน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซีให้มีศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ตอบโจทย์ และสามารถยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีให้มีความเป็นสากล อีกทั้งร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศรองรับการลงทุนให้พื้นที่อีอีซี
ดร.จุฬา กล่าวว่า ความร่วมมือตาม MOU ครั้งนี้ อีอีซี และ ส.อ.ท. จะร่วมดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) ผลักดันผู้ประกอบการในอีอีซีให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และต่อยอดธุรกิจในอนาคต และร่วมจัดกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Network)
2) ร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการ Startup ให้สามารถรับเงินทุนสนับสนุนผ่านกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation One) หรือจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพไทย และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง
และ 3) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการทั้ง Project-Based และ Flagship Projects ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่อีอีซี พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ดร.จุฬายังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมและบริการให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เสริมสร้างความพร้อมของห่วงโซ่การผลิต (Production Chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) พร้อมยกระดับให้มีความเป็นมาตรฐานและมีความเป็นสากล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการชักชวนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ด้านนายเกรียงไกรกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่สำคัญของประเทศไทย
โดยในปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 38,613 ล้านบาท และมีสมาชิก ส.อ.ท. ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 1,209 ราย ครอบคลุม 3 จังหวัดที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา จึงเห็นว่าความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ EEC เป็นแนวทางที่สำคัญ
ทั้งนี้ ส.อ.ท. พร้อมจะสนับสนุนในด้านข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของเครือข่ายสมาชิก ส.อ.ท. ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด ให้แก่ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษฯ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Network) และยกระดับภาคอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI
อีกทั้งในปัจจุบัน ส.อ.ท. ได้มีการจัดตั้งโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” ขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการในภาคอุตสาหกรรม
“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความยินดีที่ได้จับมือทำงานร่วมกับอีอีซี ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งสมาชิกของ ส.อ.ท. ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและแหล่งเงินทุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษฯ เติบโตและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว