posttoday

“พาณิชย์" หนุนผู้ประกอบการไทยใช้ละครสั้น จุดกระแส Soft Power ในแดนมังกร

21 มีนาคม 2567

DITP ชี้เป้าผู้ประกอบการ ใช้ละครสั้นดัน Soft Power ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวต่างๆของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีน หลังพบชาวจีนนิยมชมละครสั้นเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด คาดปี 70 ขนาดของตลาดละครสั้นออนไลน์ในจีนจะพุ่งถึง 100,680 ล้านหยวน


นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการผลักดัน Soft Power ของไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะการใช้ละครสั้นสอดแทรกด้านวัฒนธรรม ประเพณีการท่องเที่ยวต่างๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น

 

โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา ตลาดละครสั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน ส่งผลให้ในปี 2566 ตลาดละครสั้นออนไลน์ของจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว และตลาดยังครองตำแหน่งสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยมีข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2566 ขนาดของตลาดละครสั้นออนไลน์ในประเทศอยู่ที่ 37,390 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 267.65 คาดว่าในปี 2570 ขนาดของตลาดละครสั้นออนไลน์ในจีนจะสูงถึง 100,680 ล้านหยวน และปัจจุบัน ตลาดละครสั้นออนไลน์ของจีนกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

อุตสาหกรรมยังคงต้องปรังปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องในอนาคตในปี 2565 จำนวนเรื่องของละครสั้นที่ถูกผลิตขึ้นมาในประเทศอยู่ที่ประมาณ 172 เรื่อง เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเที่ยบกับปีก่อนหน้า และตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวนละครสั้นที่ถูกผลิตขึ้นสูงถึง 150 เรื่อง และมีจำนวนตอนที่ถูกออนแอร์แล้วถึง 3,311 ตอน ในประเทศจีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสำหรับรับชมภาพ เสียง วิดีโอ รวมประเภทต่างๆ ถึง 1,040 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสำหรับรับชมวิดีโอสั้นถึง 1,012 ล้านคน จะเห็นได้ว่า การรับชมวิดีโอสั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และจำนวนละครสั้นออนไลน์จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ตลาดละครสั้นในปัจจุบัน มีการเน้นเนื้อหาที่ให้ความรู้สึก “สะใจและสุดยอด” โดยพล็อตเรื่องมีการหักมุม รวมไปถึงเนื้อหาแฟนตาซีเกินจริง ที่ถูกดัดแปลงมาจากนวนิยาย หรือตำนานโบราณ ซึ่งเนื้อหาละครสั้นส่วนใหญ่ในตลาดมีความเหมือนและคล้ายคลึงกัน ในด้านปัจจัยหลักที่สร้างแรงจูงใจการรับชมวิดีโอสั้น ผู้บริโภคร้อยละ 54.14 เลือกรับชมเนื่องจากคุณภาพของละครสั้น ผู้บริโภคร้อยละ 43.90 เลือกรับชมเนื่องจากเนื้อหาเนื้อเรื่องของละคร และ ผู้บริโภคร้อยละ 39.83 เลือกรับชมละครสั้นจากนักแสดงและการแสดง และความถี่ในการรับชมของผู้บริโภคร้อยละ 36.19 มีการรับชมละครสั้นทุกวัน และผู้บริโภคร้อยละ 38.15 รับชมละครสั้นหลายครั้งต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการรับชมละครสั้นออนไลน์ และมีความเป็นไปได้สูงในการกลับมาดูซ้ำๆ

 

นางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวเสริมว่า หลังจากหลายปีของการพัฒนาตลาดละครสั้นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาและการดำเนินธุรกิจค่อยๆ สมบูรณ์แบบมากขึ้น ธุรกิจมีการวางเป้าหมายและกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชัดเจนส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคมีแนวโน้มคงที่ขึ้น ปัจจุบัน ตลาดละครสั้นในประเทศยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์และการชี้นําค่านิยมที่ผิดๆ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการแก้ไข จัดตั้งกลไกในการตรวจสอบและยับยั้งผู้ผลิตและละครที่มีเนื้อหาไม่พึงประสงค์อย่างเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น และในด้านการแข่งขัน ด้วยรูปแบบการผลิตละครสั้นออนไลน์มีข้อได้เปรียบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการผลิตสั้น ต้นทุนการผลิตต่ำ และเกณฑ์การผลิตที่ไม่สูงมาก จึงทำให้ละครสั้นออนไลน์มีเกณฑ์การผลิตและมีเนื้อหาที่ซ้ำกันมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องสร้างความแตกต่างทางเนื้อหา นำเสนอด้านนวัตกรรม และสร้างความโดดเด่นในตลาด จึงจะมีโอกาสในการแข่งขันที่สูงขึ้น

 

สำนักงานฯเห็นว่า ตลาดอุตสาหกรรมละครสั้นออนไลน์ของจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนมีความนิยมและความต้องการบริโภคเนื้อหาวิดีโอที่มีความกระชับ รวดเร็ว และเข้าใจง่ายมากขึ้น ละครสั้นออนไลน์เป็นหนึ่งในรูปแบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบัน และได้รับความนิยมในวงกว้าง เนื่องจากมีความสนุกสนาน รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ละครหรือภาพยนตร์ นับว่าเป็นช่องทางสะท้อนให้เห็นถึงด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม วิถีชีวิตของประเทศนั้นๆ ด้วยพลังของละครและภาพยนตร์ ที่ถือเป็นหนึ่งใน Soft Power ในการสร้างการรับรู้ และสร้างภาพลักษณ์ในด้านต่างๆ

 

"ละครไทยมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ในสายตาชาวจีนอยู่แล้ว ธุรกิจไทยสามารถปรับแปลงเนื้อหาให้เป็นรูปแบบละครสั้นที่กระชับเข้าใจง่ายสอดแทรกด้านวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวต่างๆที่จะเป็นการสร้างความนิยมในการรับชม และยังเป็นการสร้างความรับรู้ด้านภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น"นางสาวนันท์นภัส กล่าว