พาณิชย์เตือนเช็คให้ชัวร์ก่อนซื้อทองพา GIT ชี้เทคนิคดูทองจริง-ทองปลอม
GIT ชี้เทคนิคดูทองจริง-ทองปลอม เตือนผหากพบทองปลอม หรือน้ำหนักไม่เต็ม รีบแจ้งพาณิชย์-สคบ. ด่วน เตือนอย่าตื่นตระหนกแค่ต้องเช็คให้ชัวร์ก่อนซื้อ
ด้วยปัจจุบันราคาทองคำเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นไปแตะบาทละกว่า 37,500 บาท จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ มิจฉาชีพ รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ บางแห่ง ใช้โอกาสนี้หลอกขาย “ทองคำปลอม” ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ทองเกรด A, ทองไมครอน, ทองโคลนนิ่ง, ทองยัดไส้ รวมถึงทองรูปพรรณ โดยมีการนำเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ทองคำปลอมมีความใกล้เคียงกับทองคำจริงมากที่สุด และไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า
รวมถึงการใช้เครื่องมือตรวจสอบที่มีขนาดเล็ก ซึ่งกระทบร้านค้าที่รับซื้อทองคำ โรงรับจำนำ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความหวั่นวิตกในการเลือกซื้อทองคำ โดยเฉพาะทองคำแท่ง ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนการหลอกซื้อขาย“ทองคำปลอม” ทั้ง ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ ในปี 2566 พุ่งสูงกว่า 1,600 คดี
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์ ได้นำกรมการค้าภายใน และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) รวมถึงสำนักงานเลขาธิการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันแนะนำเทคนนิคตรวจสอบทองคำและให้คำแนะนำหากพบปัญหาทองปลอมหรือน้ำหนักไม่เต็ม
ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อทองคำ กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมาย ให้ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และทำการตรวจเช็คค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ ทั้ง ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ เร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพจาก GIT ให้แก่ผู้ที่สนใจ ก่อนซื้อ – ขาย
โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับความเชื่อมั่น อย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ย่านการค้าทองเยาวราช เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานทองคำ มาตรฐานเครื่องชั่งทองคำ รวมถึงฉลากสินค้าที่ถูกต้อง และ การติดราคาทองคำ ทองรูปพรรณ และค่ากำเหน็จอย่างชัดเจน โดยลงพื้นที่เยี่ยมร้านค้าทอง ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ ในย่านเยาวราช เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน
ด้านนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT เสริมว่า โดยส่วนใหญ่ คนไทยซื้อทองเก็บสะสมเป็นสินทรัพย์ โดยเลือกซื้อทองคำในรูปแบบของ ทองรูปพรรณ และ ทองคำแท่ง กับร้านทองที่น่าเชื่อถือ แต่ก่อนเลือกซื้อทองคำต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะในปัจจุบัน มิจฉาชีพ มีวิธีการต่าง ๆ มากมายที่ใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภค รวมถึงร้านค้าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ดังนั้นก่อนเลือกซื้อให้พิจารณา และสังเกตที่ทองคำ หรือทองรูปพรรณ ว่ามีตราสัญลักษณ์ร้านค้าที่เลือกซื้อหรือไม่ มีการประทับตัวเลขที่บอกมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ตอกไว้หรือไม่ เช่น Gold 965 และยังต้องสังเกตรายละเอียดต่างๆ รายรอบเพิ่มเติมด้วย อาทิ น้ำหนัก ขนาด และ รอยต่อต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบทองคำปลอม เหล่านี้ หากเป็นร้านขายทองคำ จะใช้การตะไบเข้าไปในเนื้อทองคำ เพื่อเช็คดูว่ามีการสอดไส้หรือไม่ แต่หากเป็นทองแท่งอาจจะมีการนำมาหุ้มหนาๆ การตะไบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งวิธีการนี้ ประชาชน และผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจสอบขนาดเล็กที่อาจไม่มารถตรวจสอบได้ อีกทั้งปัจจุบันได้มีการนำธาตุใหม่ ๆ เข้ามาผสมกับทองคำ เช่นธาตุรีเนียม และทังสเตน ซึ่งไม่สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด การเผาไฟ หรือใช้เครื่องมือ X-Ray ขนาดเล็กตรวจวิเคราะห์ได้
ดังนั้น หากต้องการผลการตรวจสอบที่แน่ชัด แนะนำให้นำมาตรวจสอบกับ GIT เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ที่มีเครื่องมือขั้นสูง ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นในกรณีนี้ สามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมด้วย คลื่นอัลตราโซนิค ซึ่งไม่ทำลายชิ้นงาน
สำหรับนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในส่วนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจในการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าทองคำต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีกราคาทองคำแท่งทองคำรูปพรรณ และค่ากำเหน็จให้ชัดเจน รวมทั้งยังกำหนดให้ร้านค้าทองต้องใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกรมการค้าภายในตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบราคาและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค
ดังนั้น หากผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อทองคำทั้งในด้านราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการตรวจสอบให้ความเป็นธรรมและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทกรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรหรือมีการกักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีใช้เครื่องชั่งโดยไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมการค้าภายในมีโทษ จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับกรณีมีการดัดแปลงส่วนประกอบของเครื่องชั่งตรงวัดมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 280,000 บาท
นายนภินทร ยังน้นย้ำอีกว่า การเลือกซื้อทองคำขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาของทองให้ดีโดยเฉพาะการซื้อขายผ่านออนไลน์ที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด จึงแนะนำให้ซื้อร้านทองที่มีสถานที่ตั้งชัดเจนมีประกาศราคาทองคำขึ้นลงอย่างชัดเจน สัญลักษณ์ที่ต้องสังเกตทุกครั้ง คือ ป้ายสมาชิกสมาคมค้าทองคำ (ปีปัจจุบัน) ก็จะช่วยให้มั่นใจได้ในอีกระดับหนึ่งด้วย หรือ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC)” และหลีกเลี่ยง การซื้อทองคำ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง หรือทองคำรูปพรรณ