The Next Forest สตาร์ทอัพ นวัตกรรมฟื้นฟูป่าแบบครบวงจร
เอ็นไอเอหนุนพลิกผืนป่าสู่ความสมดุลกับนวัตกรรมฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ "The Next Forest” เจาะลึกถึงการวางแผนใช้ที่ดิน ออกแบบผืนป่า 100 ไร่ ในเวลาเพียง 2 วัน
ปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยและทั่วโลกกำลังถูกทำลายจากแรงขับเคลื่อนสำคัญตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมุ่งพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจจนใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินศักยภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากร และการขยายตัวของเมืองที่ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า สิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ของพืชพันธุ์หลากชนิดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และการสูญเสียความสมดุลการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเมื่อมองความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงเศรษฐกิจพบว่า ในปี 2566 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 28 ได้มีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ และการเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนในแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานมากขึ้น จึงทำให้ภาคธุรกิจเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤติ และปัญหาทรัพยากรของโลกที่เหลือน้อย รวมถึงแรงกระเพื่อมจากส่วนสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนนวัตกรรมเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ความสำคัญกับกลไกการเงินสีเขียวเพื่อผลักดันนวัตกรหรือสตาร์ทอัพที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและรักษาความสมดุลในทุกมิติ โดยจะพาไปทำความรู้จักกับ “The Next Forest” บริการนวัตกรรมฟื้นฟูป่าแบบครบวงจร ผ่านมุมมองของคุณปาย จุฑาธิป ใจนวล อดีตนักวิจัยจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เห็นโอกาสการตั้งต้นธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานด้านป่าไม้และระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เกิดสภาวะ “โลกเดือด”
จุดเริ่มต้น The Next Forest นวัตกรรมฟื้นฟูป่าแบบครบวงจร
หากพูดถึงการดูแลป่าไม้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าแค่ช่วยปลูกป่าและไม่เผาป่า ก็ถือเป็นการช่วยดูแลทรัพยากรป่าไม้ แต่จริงๆ แล้วการดูแลป่าที่ถูกต้อง ควรเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมกับสภาพป่าไม้ และตรงกับวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินของเจ้าของพื้นที่ ซึ่ง The Next Forest เป็นธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ให้คำปรึกษาและบริการฟื้นฟูป่าแบบครบวงจร ผ่านกระบวนการทำงานที่หลากหลายตั้งแต่การสำรวจสภาพพื้นที่จริง วางแผนการฟื้นฟูพื้นที่ ให้บริการคำปรึกษาและการดำเนินงานฟื้นฟู วิเคราะห์ระดับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ดูลักษณะดิน รวบรวมชนิดพืชพื้นถิ่นเดิม ครอบคลุมไปจนถึงการปลูกต้นไม้ ช่วยดูแลจนต้นไม้เติบโตระยะเวลา 2 ปี ทำให้สิ่งแวดล้อมสามารถฟื้นตัวกลับมากักเก็บน้ำ และมีสัตว์เข้ามาอาศัยในพื้นที่ได้อีกครั้ง
The Next Forest เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 4 นักวิจัยที่เคยทำงานฟื้นฟูป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า หรือ FORRU ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีจุดมุ่งหมายและความตั้งใจเดียวกัน คือ ต้องการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวมาจากการทำวิจัยดูแลฟื้นฟูป่ามาต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อให้ทีมได้เติบโตในสายงานด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วยการดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เพราะเล็งโอกาสจากความต้องการของตลาดที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของภาคธุรกิจที่หันมาตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจได้สร้างมลพิษ และปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ส่งผลให้ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายและกฎหมายกำกับให้ภาคธุรกิจต้องทำกิจกรรมชดเชยให้กับสิ่งแวดล้อม
The Next Forest เป็นเสมือนตัวกลางที่จะเข้ามาตอบโจทย์ให้ภาคธุรกิจที่ยังไม่มีความรู้และพื้นที่ดำเนินการ โดยอาศัยคอนเนคชั่นที่เรามีกับชุมชนเข้ามาดำเนินการตั้งแต่จัดหาพื้นที่ ออกแบบ และดีไซน์แผนการฟื้นฟูให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ต้นไม้เติบโตเร็ว ช่วยดูดซับคาร์บอนได้เยอะ มีการนำความรู้มาช่วยดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศไปจนถึงการวัดผล ซึ่งทุกขั้นตอนและวิธีการจะมุ่งให้ความสำคัญในด้านความเหมาะสมต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมของพื้นที่ รวมถึงวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ที่เราเข้าไปฟื้นฟูด้วย
เทคโนโลยีเชิงลึกที่ช่วยลดต้นทุนการสำรวจพื้นที่ป่า และแรงงานคน 7 เท่า : เดิมทีกระบวนการการพัฒนาฟื้นฟูป่า ต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลโดยอาศัยกำลังคนเข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ ทำให้ต้องใช้เวลาและแรงงานจำนวนมาก รวมถึงการไม่มีชุดข้อมูลกลางเพื่อเปรียบเทียบพันธุ์ไม้ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
ปาย จุฑาธิป ใจนวล ผู้ร่วมก่อตั้ง The Next Forest เล่าว่า ปัญหาที่พบ คือ ก่อนการพัฒนาพื้นที่ป่าดิบหรือพื้นที่ป่าชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่ราบสูง ป่าผืนใหญ่ และบริเวณป่าลึกยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายที่มีความยากลำบาก ค่าใช้จ่ายสูง และมีความเสี่ยงต่อการที่คนจะเข้าพื้นที่ ทำให้การสำรวจต้องใช้เวลานาน ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจำแนกชนิดต้นไม้ พันธุ์ไม้จากภาพถ่าย ที่แม้จะเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่หรือต้นไม้เป้าหมายให้ได้ในระยะใกล้ที่สุด ซึ่งการได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
เมื่องานด้านการฟื้นฟูป่าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งแรงใจ แรงกาย และองค์ความรู้มากมายในการสร้างขึ้นมา ส่งผลให้ The Next Forest เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อพัฒนาเทคนิควิธีการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้ด้วยภาพถ่ายจากโดรน และกระบวนการออกแบบโปรแกรมประมวลผลและจำแนกภาพด้วย Machine learning ผ่านโครงการ “นวัตกรรมการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ” เพื่อสานต่อประโยชน์ให้กับงานด้านการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่ทั้งก่อนและภายหลังการฟื้นฟู รวมถึงลดต้นทุนงบประมาณด้านเวลาและกำลังคน ความเสี่ยงจากการลงพื้นที่สำรวจและประเมินพื้นที่ป่า และยังสามารถขยายผลนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งกับภาครัฐ หน่วยงานการศึกษา ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
การออกแบบโปรแกรมประมวลและจำแนกภาพด้วย Machine learning โดยวิธีการ Maximum likelihood ด้วยชุดข้อมูลภาพที่ทำการถ่ายด้วยโดรน และสร้างโปรแกรมที่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ไม้หลักในพื้นที่ภาคเหนือ ตอนนี้เราทำได้ 4 ชนิด ได้แก่ สัก ประดู่ป่า รัง และเหียง ซึ่งความยากอยู่ที่การสอนให้โปรแกรมสามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้จากสีสะท้อนตามช่วงเวลา ทรงพุ่ม และเรือนยอด ที่ต้องถ่ายรูปเก็บข้อมูลตลอดทั้ง 3 ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลลัพธ์นั้นค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ
โดยผลวิเคราะห์มีความถูกต้องสูงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนนี้ ถือเป็นการติดอาวุธใหม่ให้กับธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากโดรนในลักษณะนี้ เมื่อเทียบกับการสำรวจแบบเดิมด้วยแรงงานคน การสำรวจพื้นที่ 100 ไร่ ทีมงานจะต้องเดินทางไป-กลับพื้นที่ จำนวน 2 รอบ และใช้เวลาประมาณ 14 วันจึงจะสำรวจแล้วเสร็จ แต่ด้วยนวัตกรรมนี้ทำให้ทีมงานใช้เวลาเพียง 2 วันในการสำรวจพื้นที่จำนวน 100 ไร่ ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 7 เท่า
ธุรกิจบริการฟื้นฟูป่าแบบครบวงจรของ The Next Forest นอกจากจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดช่องว่างและเสริมศักยภาพการดำเนินงานด้านการสำรวจป่าที่สมบูรณ์ และจัดทำฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ไม้ในแต่ละพื้นที่ของประเทศแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์พื้นที่ ทั้งช่วยลดมลพิษทางอากาศ เปิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต การฟื้นฟูป่าที่ดำเนินการผ่านวิธีการที่เรียกว่า “วิธีพันธุ์ไม้โครงสร้าง” ที่ทาง FORRU ได้นำโมเดลการทำงานของออสเตรเลียมาทดลองและปรับใช้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการนำพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายประมาณ 20 – 30 ชนิด ที่ได้จากการเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าใกล้เคียงเข้าไปปลูกในพื้นที่ที่ดำเนินการฟื้นฟู มีการวางแผนโครงสร้างการเติบโตคล้ายกับป่าธรรมชาติ ต้นที่โตเร็วจะทำหน้าที่ให้ร่มเงาปกคลุมพื้นที่ และช่วยดูแลอนุบาลต้นพันธุ์ที่โตช้าให้ค่อยๆ เติบโต เน้นชนิดพันธุ์ที่มีผลในการดึงดูดสัตว์ เช่น นก กระรอก ผีเสื้อ เก้ง หมูป่า ให้กลับเข้ามาดำรงในชีวิตในพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสำคัญในการกระจายเมล็ดจากป่าบริเวณรอบเข้ามาในพื้นที่ฟื้นฟูของเรา ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพื้นป่าแบบครบวงจร
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะสิ่งมีชีวิตจะมีความสัมพันธ์โยงใยกันเป็นห่วงโซ่ ดังนั้น หากความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจนขาดหายไปจะทำส่วนอื่นในห่วงโซ่นั้นได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่คนอาจจะยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหามากนัก
ดังนั้น หากภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับไบโอเครดิต เช่นเดียวกับคาร์บอนเครดิต ถือเป็นการดีที่หลายฝ่ายส่วนได้เริ่มทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของพื้นที่ป่าที่ไม่ใช่มีแค่การกักเก็บคาร์บอน แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นอีกมากมาย ที่ไม่ใช่แค่การเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ต้องสนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่าและช่วยดูแลป่า ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการร่วมฟื้นฟู และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในระยะยาว