posttoday

ส่องโอกาส 4 ผลไม้ ฮีโร่ ดันส่งออกไทยเกินดุลในรอบ 5 เดือน

22 มิถุนายน 2567

กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขมูลค่าการส่งออกประจำเดือน พ.ค. 2567 มูลค่า 960,220 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% โดยมี 4 ผลไม้ฮีโร่ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะม่วง ช่วยดันยอดส่งออกให้เกินดุลในรอบ 5 เดือน ทว่าทุเรียนกลับมีแนวโน้มผลผลิตลดลงจากสถานการณ์เอลนีโญ

สำหรับสินค้าเกษตรที่เป็นฮีโร่ในการส่งออกนั้น พบว่า มีผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง มีการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก

ตัวเลขการส่งออกผลไม้ดังกล่าว ระหว่างเดือนม.ค. – พ.ค. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า -ทุเรียน มีมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2567 อยู่ที่ 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่ 10,226.8 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2566 อยู่ที่ 72,833.0 ล้านบาท 
 

-มังคุด มีมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2567 อยู่ที่ 9,904.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่ 1,929.7 ล้านบาท  โดยมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2566 อยู่ที่ 7,975.1 ล้านบาท 

-ลำไยมีมูลค่าการส่งออก ม.ค.-พ.ค. 2567 อยู่ที่ 6,367.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่ 1,519.1 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2566 อยู่ที่ 4,848.6 ล้านบาท 

-มะม่วง มีมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2567 อยู่ที่ 3,127.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่ 1,259.1 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกม.ค.-พ.ค. 2566 อยู่ที่ 1,868.0 ล้านบาท

ทุเรียนแนวโน้มผลผลิตลดจากเอลนีโญ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ฤดูทุเรียนอยู่ใน เม.ย.-ส.ค. 2567 คาดว่ามีผลผลิตรวมปีนี้ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เริ่มจากภาคตะวันออกก่อนที่เผชิญเอลนีโญ ฉุดผลผลิตทุเรียนในฤดูภาคตะวันออกลดลง 14%YoY ขณะที่ทุเรียนภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาดตามมา คาดผลผลิตจะลดลงมากขึ้นอีกอยู่ที่ 25%YoY จากฝนน้อยกระทบการติดดอกออกผล และถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงขณะเก็บเกี่ยว 

ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ที่มักจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดในเดือน เม.ย แต่ในช่วงราว 4 เดือนแรกของปีนี้ต้องเผชิญเอลนีโญซึ่งก่อให้เกิดความร้อนแล้ง จึงทำให้ทุเรียนติดดอกออกผลน้อยลง และผลทุเรียนมีน้ำหนักเบา แม้เดือน พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนมากขึ้น แต่ภาพรวมทั้งปีคาดผลผลิตจะลดลง 14%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.65 ล้านตัน 

ขณะที่ ภาคใต้  ทุเรียนจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ มิ.ย. ยังมีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีก จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียน ตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงใน ก.ค.ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง 25%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.31 ล้านตัน

ดังนั้น ในภาพรวมผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (ทั้ง 2 ภาค) อาจลดลง 18% YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 0.96 ล้านตัน  นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ราคาเฉลี่ยทุเรียนปีนี้อาจปรับสูงขึ้น 22%YoY แต่ภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.3% จากผลผลิตรวมที่ลดลง 18% YoY

แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 4%YoY และรายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง 8%YoY ทั้งนี้ เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น