posttoday

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

25 กรกฎาคม 2567

ทำไม สตาร์ทอัพไทย จึงตายไปเยอะ ที่เหลือก็มีแต่สตาร์ทอัพด้านบริการ ไม่เปล่งแสงจนเตะตานักลงทุน ในขณะที่ค่าแรงสูง แรงงานย้าย คนเลือกงาน ดีพเทค สตาร์ทอัพ คือคำตอบ ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ตกับข้อเรียกร้องขอเป็น แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ

ในแต่ละวันเที่ยวบินเข้าออกที่ จ.ภูเก็ต มีถึง 300 เที่ยวบิน ผู้คนเดินทางเข้าจังหวัดวันละ 40,000 คน ภูเก็ต จึงเป็นเมืองแห่งโอกาส ที่มักถูกเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ อยู่ตลอดเวลา  ทำให้พื้นที่ภูเก็ต ถูกเลือกเป็นโมเดลเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการเป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) หรือ แซนด์บ็อกซ์ เมืองอัจฉริยะ การรับมือกับการระบาดโควิด-19 เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และการเปิดข้อมูลของรัฐและเอกชน จึงพร้อมแล้วที่จะนำไปต่อยอดสู่การเป็น แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ

เงินทุนจะสำคัญเช่นไร หากไม่มีสตาร์ทอัพไปขอทุน

“ภูเก็ต คือ หมุดหมายสำคัญ ของสตาร์ทอัพต่างชาติ ที่นิยมเข้ามาทำงาน รวมถึงสตาร์ทอัพไทยทั้งโลคอลและทั่วทุกภูมิภาค เมื่อภูเก็ตมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พร้อม จากการเป็นจังหวัดต้นแบบเมืองอัจฉริยะจังหวัดแรก ดังนั้นมั่นใจว่า ภูเก็ตจะมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบของสตาร์ทอัพให้กับประเทศไทยด้วย” มนต์ทวี หงส์หยก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจการเป็น แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพของประเทศไทยให้กับ โพสต์ทูเดย์ ฟัง 

เขาเล่าว่า แม้จะไม่มีการเก็บตัวเลขที่ชัดเจนว่าจำนวนสตาร์ทอัพในภูเก็ตมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่เขาฉายภาพได้ชัดเจนว่า ภูเก็ต มีต่างชาติที่เป็น Digital Nomad ที่เข้ามาพักอาศัยจำนวนไม่น้อย และสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องอยู่พื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง เขาสามารถทำงานได้ทุกที่ แต่ประเด็นของสตาร์ทอัพไทยที่ล้มหายตายจาก และไม่สามารถสู้ต่างชาติได้ คือ ดีพเทค สตาร์ทอัพ ยังน้อย

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

มนต์ทวี หงส์หยก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต

ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนให้เกิด ดีพเทค สตาร์ทอัพ เช่น สตาร์ทอัพด้านบลอกเชน เอไอ หรือ Wellness & Healthcare เป็นต้น ซึ่งหากประเทศไทยมี  ดีพเทค สตาร์ทอัพ ก็จะสามารถเปล่งประกายเป็นที่น่าสนใจ ของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาระดมทุนกับสตาร์ทอัพไทยได้

การก่อให้เกิด ดีพเทค สตาร์ทอัพ จำเป็นต้องมีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ในการทดลองทดสอบ มีเทคโนโลยีที่พร้อม และบุคลากรที่เพียงพอ จึงเสนอให้รัฐบาลผลักดันให้ภูเก็ตเป็น ดิจิทัล อินโนเวชัน ฮับ เพื่อจะได้เดินหน้าในการสร้างบุคลากร มีการนำคลื่นความถี่ เช่น 5G มาทดลองทดสอบ หรือ ทำระบบแซนด์บ็อกซ์เพื่อให้มีการพัฒนาสตาร์ทอัพ ดีพเทคด้านต่างๆ มีการประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน มีบริษัทเทคโนโลยีร่วมลงทุนกับภาครัฐ ทั้งรูปแบบร่วมลงทุน หรือ PPP 

เพื่อให้ภูเก็ต เป็นฮับด้านสตาร์ทอัพ เราไม่ได้ต้องการแค่เงิน เพราะแม้ว่าในจังหวัดภูเก็ตเองจะมีการตั้งกองทุนสตาร์ทอัพขึ้นมาเองในวงเงินประมาณ 45 ล้านบาท แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้น คือ ความรู้ คำแนะนำ และการจับคู่ธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพ

ภูเก็ตมีระบบนิเวศที่พร้อมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว หรือแม้แต่โรงเรียนนานาชาติ หลายแห่ง ที่สำคัญเราเป็นแซนด์บ็อกซ์สมาร์ทซิตี้มาก่อน จึงมีความพร้อมต่อยอดให้สตาร์ทอัพได้

ณัฐชยา สืบศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท วีเสิร์ฟ ไลฟ์สไตล์ จำกัด ผู้พัฒนา “WESERVE” Local Lifestyle Super App แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รวมทุกบริการครบจบในที่เดียว สะท้อนปัญหา สตาร์ทอัพในประเทศไทยว่า สตาร์ทอัพที่ประเทศไทยขาด คือ สตาร์ทอัพด้านดีพเทค การที่ไม่มีสตาร์ทอัพที่โดดเด่น ทำให้ไม่ได้รับเงินทุน และการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการ SME ให้ไปสู่ สตาร์ทอัพ ล้วนต้องใช้เงินทุน แต่กลับกัน แม้จะมีเงินทุน แต่ไม่มีของ หรือ ไม่มีสตาร์ทอัพที่โดดเด่นพอจะใช้เงินทุน ก็ทำให้ประเทศไม่มีโปรดักส์ที่ดีออกสู่ตลาด ดังนั้นหากยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งประเทศ ขอเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อน 3 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา ให้เข้มแข็งก่อนก็ได้  

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

ณัฐชยา สืบศักดิ์ ผู้พัฒนา “WESERVE”

ดีพเทคต้องเกิด รับปากคุย กสทช.

สอดคล้องกับ ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีความเห็นว่า สตาร์ทอัพของไทยยังมีแค่การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการเท่านั้น การจะทำแซนด์บ็อกซ์ ภูเก็ต ต้องนำเสนอโครงการที่เป็นปัญหา ให้ชัดเจน โดยเชื่อว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะสามารถนำคลื่น 3200 MHz มาทดลองทดสอบได้ 

ขณะที่รัฐมนตรีดีอี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รับปากว่า จะรับปัญหาไปหารือกับคณะกรรมการกสทช.ทั้งเรื่องคลื่นในการนำมาทดลองทดสอบ และเรื่องการนำเงินลงทุนมาสนับสนุนสตาร์ทอัพ อยากให้ S-Curve ของไทย กลายเป็น ยูนิคอร์น เพิ่มขึ้นหลายๆตัว

ยกโมเดล Transform ตลาดสด อัพสกิล SME

รัฐมนตรีดีอี ย้ำว่า ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จากสถิติปี 2566 พบว่ามีเงินสะพัดถึง 3 แสนล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพในพื้นที่ และ ผู้ประกอบการ SME ให้สามารถนำดิจิทัล หรือ ใช้สตาร์ทอัพของไทยในการช่วยทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

ประเสริฐ จันทรรวงทอง ลงพื้นที่ตลาดนัดชิลล์วา 2 ภูเก็ต

ยกตัวอย่างโครงการที่สำคัญซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว 1 ปี และคนในพื้นที่ยังยินดีที่จะใช้บริการต่อเนื่อง นั่นคือ โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่เป้าหมายให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ สามารถพัฒนาสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ ผ่านลงพื้นที่สร้างความตระหนักรู้ การจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับการทำธุรกิจค้าขายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และนำไปต่อยอดกับธุรกิจของตนเองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

มนัสดา ชอบทำกิจ ผู้จัดการตลาดนัดชิลล์วา 2

มนัสดา ชอบทำกิจ ผู้จัดการตลาดนัดชิลล์วา 2 จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชิลล์วา 2 ได้เลือก บริษัท พราวด์ เทคโนโลยี คอร์ป จำกัด สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาระบบ Delivery ภายใต้ชื่อ Proud ระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยฝั่งผู้ซื้อสามารถกดสั่งสินค้าจากทุกร้านภายในตลาดได้ครบจบภายในบิลเดียว ทำให้ไม่ต้องสั่งซื้อทีละรายการๆละ100 บาท และเสียค่าส่งหลายครั้ง หากสั่งคนละร้านค้า ขณะที่ฝั่งผู้ขายซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดได้ประโยชน์จากการเพิ่มช่องทางการค้าขายผ่านออนไลน์ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

เก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ เจ้าของระบบ Delivery -Proud

เก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พราวด์ เทคโนโลยี คอร์ป จำกัด ระบบ Delivery ภายใต้ชื่อ Proud เล่าให้ฟังว่า เราให้บริการครอบคลุม 5 จังหวัดภาคใต้ ใน 17 จังหวัด โดยเฉพาะภูเก็ต เราให้บริการอยู่ 6 ตลาด ตลาดที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ยังคงต้องการใช้ระบบของเราต่อเนื่อง เพราะมีข้อดีสำหรับผู้ใช้ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าต่างๆได้ภายในบิลเดียว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมร้านค้า เพราะมีคนรับออเดอร์และไปหาซื้อให้กับลูกค้า ขณะที่ลูกค้าเอง ก็สามารถเลือกสินค้าในตลาดได้หลายร้าน ไม่จำเป็นต้องซื้อครั้งละ 1 ร้าน และเสียค่าส่งต่อครั้งหลายครั้ง โดยเมื่อระบบทำการจัดสินค้าให้ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ระบบจะเชื่อมต่อไปยังไรเดอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กางแผนหนุนสตาร์ทอัพพื้นที่ภูเก็ต

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาดีป้า ได้ลงทุนกับ Digital Startup ในพื้นที่ภูเก็ตหลายราย อาทิ Weserve และ City Data Analytics (CDA) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี และนโยบายกระทรวง ต้องการให้ดีป้า ขยายการสนับสนุน Digital Startup จากท้องถิ่นมากขึ้น 

ฟังเสียงผู้ประกอบการภูเก็ต ถึงเวลาสตาร์ท แซนด์บ็อกซ์สตาร์ทอัพแห่งชาติ ?

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่

เราพร้อมทำงานกับนักลงทุนท้องถิ่นในการส่งเสริมระบบนิเวศน์และเพิ่มการลงทุนในพื้นที่การจัดกิจกรรม Phuket Innovation Challenge เพื่อเฟ้นหาโจทย์และ pain points จากพื้นที่ โดยตรง ซึ่ง Digital startup สามารถใช้โจทย์ดังกล่าวมาพัฒนาโซลูชันที่สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ 

จับคู่ สตาร์ทอัพทรานฟอร์มดิจิทัลSME

กระทรวงดีอีเห็นถึงความสำคัญที่จะส่งเสริมให้ SME สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในยุค AI ธุรกิจ SME ก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มรายได้ ดีป้า จึงวางมาตรการทั้งทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ในการส่งเสริมให้ SME สามารถปรับตัว ทั้งนี้ SME สามารถเลือกใช้บริการดิจิทัล และ AI as a service จากบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นบริการที่ได้รับรองมาตรฐาน เชื่อถือได้ ในกระบวนการทำงานต่างๆ

อาทิ การประยุกต์ใช้ chatbot เพื่อการปรับปรุงระบบลูกค้าสัมพันธ์ และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง โดยหาก SME เลือกใช้บริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อยภาษีได้จากมาตรการของกรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือให้ SME สามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ แพลตฟอร์ม Etailigence ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่รวบรวมข้อมูล Ecommerce ที่ทำให้ SME รู้ว่าสินค้าอะไรขายดี ขายไม่ดี และควรตั้งราคาหรือทำโปรโมชั่นอย่างไร ซึ่งช่วยทำให้ SME สามารถเพิ่มยอดขายได้

มาถึงจุดนี้ พ.ร.บ. ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ ที่ยังค้างอยู่ คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ส.ค.2568 ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ... ฝากไว้ให้คิด