SME รอเลย ส.ค.นี้ ดีเดย์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% ใน 3 ปีแรก สูงสุด 10 ล้านบาท
สินเชื่อ “SME Green Productivity”15,000 ล้านบาท ดีเดย์ ส.ค.นี้ เปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ
นำไปเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน พัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME สามารถตอบโจทย์กติกาการค้าโลกยุคปัจจุบัน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน
คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ประมาณ 1,500 ราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 อัตรา สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจ SME ได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม
ขณะที่นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า โครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” เป็นสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน เปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำ เปิดยื่นคำขอกู้ได้ภายในเดือนส.ค. 2567 นี้
ทั้งนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน
ผู้ประกอบการ SME ที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ประกอบการ SME ที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ธนาคารกำหนด
พิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank
นอกจากนี้ มติครม. ยังได้ ให้ SME D Bank แยกบัญชีการดำเนินโครงการฯ ออกจากการดาเนินการตามปกติเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) รวมทั้งสามารถนาส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชุดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้
โดยได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยขอรับงบประมาณชดเชยเป็นระยะเวลา 3 ปี ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,350 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นควรให้ SME D Bank จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
การค้ำประกัน ใช้ บสย. ค้ำประกัน และ/หรือ หลักประกันตามที่ SME D Bank กำหนด โดยรัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ SME D Bank ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,350 ล้านบาท (วงเงิน 15,000 ล้านบาท x อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 x ระยะเวลา 3 ปี) โดย SME D Bank จะทำความตกลงกับสานักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีต่อไป