ผ่า "สินเชื่อแฟคตอริ่ง"ทางเลือกแหล่งเงินทุนเข้าถึงง่ายสำหรับ "SME"
รู้จัก “แฟคตอริ่ง” ธุรกิจสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น สนับสนุนผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เหตุผู้ประกอบการไทยกว่า 3 ล้านรายเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ถึง 50%
ในยุคที่เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงลำบากเหลือแสน หันซ้ายหันขวามีแต่ของขายแต่แทบจะร้างเงาคนซื้อ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการน้อยใหญ่บ่นอุบ มิหนำซ้ำ "สินค้าจีน" ยังไหลทะลักเข้ามาถล่มตลาดในไทยแทบจะทั้งหมด ด้วยต้นทุนและการผลิตที่มหาศาลส่งผลให้ราคาสินค้าจากจีนค่อนข้างถูกกว่าสินค้าไทยค่อนข้างมาก เมื่อไร้การกีดกันทางการค้า ไร้ซึ่งกำแพงป้องกันใดๆ สงครามราคาจึงบังเกิด และแน่นอนว่าสินค้าไทยจะเอาอะไรไปสู้เขา
ช่วงวิกฤติโควิด-19ว่าลำบากแล้ว สงครามเศรษฐกิจในช่วงนี้ยิ่งลำบากกว่า ดังจะเห็นโรงงานของผุ้ประกอบการรายเล็กรายน้อยปิดตัว คนตกงาน แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยลูกหนี้และ SME โดยเฉพาะ "สินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท" นโยบายถือว่าดี แต่ใช่ว่าผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กจนถึงรายย่อยมากๆที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งจะสามารถเข้าถึงเม็ดเงินดังกล่าวได้ง่าย ด้วยเงื่อนไขแต่ละธนาคารก็ค่อนข้าง "เลือก" ซะเหลือเกิน SME ที่ไม่ใช่ "ลูกรักและดี" ย่อมเข้าถึงได้ยากกว่ามาก หรือเข้าถึงไม่ได้เลย
"เชื่อหรือไม่ว่าจากตัวเลขของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยพบว่าปัจจุบัน SME ในประเทศมีมากกว่า 3 ล้านราย แต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ถึง 50% ซึ่งอาจสะท้อนได้หลายมุมมอง และแต่ละปีมียอดปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 3 แสนล้านบาท หากภาครัฐเล็งเห็นถึงความสําคัญของการผลักดันในการนําสินเชื่อแฟคตอริ่งไปช่วยผู้ประกอบการที่ยังเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้จะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับ SME ช่วยแก้ pain point หลายเรื่องในประเทศได้ พร้อมกับการสร้างความเข้าใจเรื่องค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ยไม่ได้คิดแพง เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์สำหรับธุรกิจ" นายอัครวิทย์ สุกใส นายกสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง (TFA) กล่าว
"สมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง" ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง พัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจ รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟคตอริ่งและปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ปัจจุบันมีสมาชิกสมาคมฯ 13 กิจการ ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง และสถาบันการเงิน ประเภท Non-Bank 9 แห่ง
รู้จัก "ธุรกิจแฟคตอริ่ง"
"ธุรกิจแฟคตอริ่ง" คือ การให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน รูปแบบการให้บริการ-โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินหนี้ทางการค้าจาก "ลูกหนี้การค้า" ของผู้ประกอบการ
"ข้อดีของแฟคตอริ่ง"
- อนุมัติเร็ว ง่าย
- ไม่ต้องใช้หลักประกัน
- วงเงินตามความต้องการซื้อขายจริง
- เพิ่มสภาพคล่องและการเติบโตในธุรกิจ
- คิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาจริง
ขณะที่ "ดอกเบี้ย" แฟคเตอริ่งเริ่มต้นที่ MRR+ ซึ่งเป็นความต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกชาร์จ โดยสินเชื่อของแฟคเตอรี่เป็นสินเชื่อที่มุ่งเน้นสําหรับธุรกิจเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมี "International Factoring" หรือ "แฟคตอริ่งระหว่างประเทศ" เป็นบริการทางการเงินที่ช่วยให้ธุรกิจจัดการกระแสเงินสดโดยการขายบัญชีลูกหนี้ (ใบแจ้งหนี้)ให้กับบุคคลที่สามโดยมีส่วนลด, เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ เช่น ผู้ขายอยู่ในประเทศไทย และผู้ซื้ออยู่ที่ต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกหรือนำเข้า มีกระแสเงินสดทันที, ลดความเสี่ยงจากการไม่ชำระเงินของลูกค้าต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ข้อดีของ "International Factoring" สำหรับผู้ประกอบการไทย ก็คือสมัครและเบิกใช้ง่ายไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและเบิกเงินได้สูงสุด 90% รวดเร็วสุดภายใน 1 วัน พร้อมกับคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาการใช้งานจริง เป็นสินเชื่อที่เหมาะกับธุรกิจที่มีกำไรขั้นต้นระดับปาลกลางถึงสูง,กำลังผลิตยังคงเหลือ,มีออเดอร์งานโปรเจคหรือโอกาสทางธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อต่อยอดธุรกิจ
"สิ่งสำคัญจากนี้คือการเดินหน้าประชาสัมพันธ์ของสมาคมฯ ควบคู่การลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจและการเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน สมาคมฯมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยผู้ประกอบการอย่างแท้จริงและหวังว่าจากนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้"