ทำไมธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ SME หันซบเงินกู้นอกระบบ
รวยกระจุก จนกระจาย SME ยังปริ่มน้ำ ควอนติฟิน คอนซัลติ้ง เปิดเหตุผล ทำไมธนาคารไม่ปล่อยกู้ SME พร้อมเสนอ 6 แนวทางแก้ไข ผลักดัน SME มีสภาพคล่องไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ 2 SME สีเขียว เผยรัฐควรสนับสนุนสินค้าไทย เลิกคิด สินค้าไทยต้องราคาถูก-ดีกว่าคู่แข่งอย่างไร
เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2567 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 /2567 ขยายตัวชะลอลงที่ 0.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัวที่ระดับ 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
ทว่าสินเชื่อ SME กลับหดตัวต่อเนื่องที่ 5.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมพาณิชย์ ค้าส่งและค้าปลีก ยานยนต์และไฟฟ้า ขณะที่ นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาส 2 ปี 2567 พบ ผู้ประกอบการ SME ที่มีภาระหนี้สินมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย มาอยู่ที่ 64.3% จาก 63.9% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและธุรกิจการเกษตร 90.9 % กู้เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ แต่มีแนวโน้มกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้สินเดิมมากถึง 5.1 % เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการสร้างวงจรกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า ที่อาจต้องเผชิญภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น อีกทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มในระบบ พบ 51% กู้นอกระบบ https://www.posttoday.com/smart-sme/712005
บริษัท ควอนติฟิน คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ระบุ 4 เหตุผลหลักที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ SME ว่า เหตุผลแรกคือ SME มีความเสี่ยงสูงกว่า ทำให้ธนาคารต้องตั้งเงินสำรองสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เหตุผลถัดไป คือ ข้อมูลทางการเงินไม่ชัดเจน สาม คือ สินทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ และ สุดท้ายคือ วงเงินเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับต้นทุนการปล่อยกู้ต่อรายสูงกว่า
ดังนั้น ธนาคารจึงเน้นปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่มากกว่า เนื่องจาก มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ธนาคารตั้งสำรองน้อยกว่า นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถขายผลิตภัณฑ์อื่นได้เยอะกว่า ที่สำคัญคือ บริษัทขนาดใหญ่มีความโปร่งใสกว่าในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชน นั่นเอง
เมื่อไม่มีการปล่อยกู้ให้ SME แน่นอนว่า ผลกระทบย่อมตกไปสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยมีจำนวน SME อยู่ประมาณ 3.22 ล้านราย ข้อมูลจาก สสว. พบว่า จำนวน MSME ในประเทศอยู่ประมาณ 3.22 ล้านราย ในปี 2566 นั้น เป็นนิติบุคคลเพียง 8.75 แสนราย คิดเป็น 27% เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นส่วนบุคคล ขณะที่ภาคการผลิตมี 5.15 แสนราย มีการจ้างงานในระบบ 2.76 ล้านคน
ควอนติฟิน คอนซัลติ้ง ระบุต่อว่า ผลกระทบต่อการไม่ปล่อยกู้ให้ SME ทำให้เกิดการขาดแคลนแหล่งเงินทุนของ SME , SME ขยายตัวได้จำกัด ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ ในที่สุดก็เกิดปัญหา รวยกระจุก จนกระจาย
ดังนั้นจึงได้เสนอ 6 แนวทางแก้ไข ได้แก่ 1.ควรมีการขยายบทบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SME 2.การจัดตั้งกองทุนที่ร่วมลงทุนกับธนาคารเพื่อแบ่งความเสี่ยงและช่วยกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เฉพาะเจาะจงสำหรับ SME เช่น สินเชื่อที่ยืดหยุ่นในการชำระหนี้ตามฤดูกาล หรือ ตามกระแสเงินสดที่เปลี่ยนแปลงตลอดปี
4. ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ SME เช่น การลดหย่อนภาษีตามสัดส่วนของสินเชื่อที่ปล่อยให้ SME 5.พัฒนาฐานข้อมูลเครดิตระดับชาติสำหรับ SME ที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงพฤติกรรมทางการเงินของ SME และ 6.เพิ่มบทบาทในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME โดยเฉพาะการเน้นให้การสนับสนุนในระยะเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ หรือ ในช่วงที่ SME ต้องการเงินทุนหมุนเวียน
แนะธนาคารเลิกถาม SME ใครทำหรือยัง-ดีกว่าคู่แข่งอย่างไร
ศกยง พัฒนเวคิน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ เวคิน
นายศกยง พัฒนเวคิน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคาร์บอน เครดิต กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการมักเจอคำถามจากธนาคารคือ สิ่งที่ทำ มีใครทำหรือยัง และ ดีกว่าคู่แข่ง อย่างไร ตรงนี้คือกับดักของประเทศ เราอยากให้มองในมุมกลับกันว่า ทำไมไม่ช่วยเหลือในระดับหนึ่งจนเขาสามารถเติบโตได้ สนับสนุนการใช้สินค้าไทย และควรล้มเลิกความคิดว่า สินค้าไทยต้องถูกได้แล้ว ทำไมของต่างประเทศแพงกว่าถึงซื้อ ทำไมเราถึงไม่มีค่านิยมเหมือนจีนที่เขาจะสนับสนุนสินค้าของประเทศตัวเองก่อน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสินเชื่อให้ SME ที่ทำ ESG กู้เงินด้วยดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 10 ปี
วาเรญ อ้อยแขม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โคเวอร์แมท
สอดคล้องกับนางสาววาเรญ อ้อยแขม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โคเวอร์แมท จำกัด เจ้าของนวัตกรรมสารเคมีผลิตวัสดุพลาสติกรักษ์โลก กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารจะถามทุกครั้งเวลาไปขอสินเชื่อคือ สินค้านี้ใครๆก็รู้จักอยู่แล้ว ทำไมต้องทำอีก และท้ายที่สุดก็คือสินค้าไทยควรจะราคาถูก ซึ่งไม่ถูกต้อง