posttoday

ครบ 1 ปี ชุมชนโดรนใจ ปั้นเกษตรดิจิทัล ศูนย์ซ่อมโดรน สร้างเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท

19 กันยายน 2567

ดีป้าเปิดผลงานชุมชนโดรนใจ ใกล้ครบ 1 ปี เกษตรกรประยุกต์ใช้ 424 ชุมชน 60 จังหวัด ผุดศูนย์ซ่อมโดรนสร้างอาชีพทั่วประเทศ 48 แห่ง ขณะที่เป้าหมายอยู่ที่ 500 ชุมชน มีศูนย์ซ่อมโดรน 50 แห่ง

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ  1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ว่า โครงการใกล้ดำเนินการครบ 1 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการส่งเสริมการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกรแล้ว 424 ชุมชน ในพื้นที่ 60 จังหวัด ประกอบด้วย

กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 104 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 31 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส และยะลา

ครบ 1 ปี ชุมชนโดรนใจ ปั้นเกษตรดิจิทัล ศูนย์ซ่อมโดรน สร้างเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท

กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก จำนวน 52 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี กรุงเทพม.หานคร นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 12 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว

กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 225 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี

ครบ 1 ปี ชุมชนโดรนใจ ปั้นเกษตรดิจิทัล ศูนย์ซ่อมโดรน สร้างเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 48 แห่ง แบ่งออกเป็นภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคกลางและภาคตะวันตก 6 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง โดยศูนย์ซ่อมโดรน 1 แห่งรองรับการให้บริการชุมชนใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10 ชุมชน 

สำหรับโครงการชุมชนโดนใจ ดีป้า ได้เปิดตัวโครงการเมื่อ วันที่ 13 พ.ย. 2566 ตั้งเป้าภายใน 1 ปี เกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศจะกลายเป็นผู้ให้บริการบินโดรน ไม่น้อยกว่า 1,000 คน เกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ 50 แห่ง ผลักดันให้ชุมชนประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 500 ชุมชน

คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ยา สารเคมี ประหยัดค่าแรงงานฉีดพ่น ด้วยเทคโนโลยีสร้างงาน สร้างอาชีพ