posttoday

ไขความลับ “แม่ละมาย” วุ้นมะพร้าว 300 ล้าน ชูนวัตกรรมหนีเลียนแบบ

22 กันยายน 2567

จากคนล้มละลายยุคต้มย้ำกุ้ง วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ เจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ เริ่มธุรกิจจาก 0 ตั้งต้นชีวิตใหม่ ขายไก่ริมถนน สู่ มะม่วงดองน้ำผึ้ง สูตรคุณแม่ หาทางที่ใช่ ชูนวัตกรรม วุ้นมะพร้าว เม็ดแมงลัก ปั้นยอดขาย 300 ล้านบาท

ปี 2540 วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ คือ 1 ใน นักธุรกิจที่ต้องล้มทั้งยืน เพราะพิษฟองสบู่แตก จากรายได้ธุรกิจโรงพิมพ์เดือนหลักล้าน ต้องหมดตัวเหลือ 0 บาท เช็คเด้งเป็นกอง เพราะลูกค้ารายใหญ่ ไม่สามารถชำระเงินได้  เครื่องพิมพ์ที่เพิ่งซื้อใหม่ ก็ต้องฝันค้าง หมดตัวภายใน 3 เดือน

เริ่มจากไก่ย่าง สู่มะม่วงดองน้ำผึ้ง

วีระ เล่าว่า ตอนนั้นหมดตัว แต่ไม่มีหนี้ จึงกลับมาตั้งหลักที่บ้านภรรยา จ.สุพรรณบุรี มาเริ่มต้นใหม่ด้วยการขายไก่ย่างสมุนไพร ตั้งโต๊ะขายริมถนน ปรากฎว่า ขายดี จนเกิดการบอกต่อ เขาจึงรู้สึกว่า การทำอาหาร เป็นสิ่งที่เขาชอบ และทำได้ดี 

ตอนแรกคิดว่า อยากต่อยอด เป็นร้านส้มตำไก่ย่าง แต่สุดท้าย จึงคิดว่า คุณแม่ มีสูตร มะม่วงดองน้ำผึ้ง จ.ตาก ที่อร่อย ปลอดสารพิษ เลียนแบบยาก จึงตั้งใจสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง เป็นชื่อคุณแม่ “แม่ละมาย” เริ่มขายกับนักท่องเที่ยวตามรีสอร์ท

มะม่วงดองน้ำผึ้ง แม่ละมาย ขายดีมาก ทำให้ วีระ คิดนำสินค้าเข้าไปขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทว่าเมื่อวางขายไปได้สักระยะหนึ่ง สินค้าที่ไม่ใส่สี ทำให้เกิดความต่าง การเปรียบเทียบ ระหว่างสินค้าเก่าที่สีซีดลง กับสินค้าใหม่ที่สีสด ทำให้ต้องหันมาสำรวจตลาดเพื่อหาสินค้าใหม่ทดแทน

ต้องมีนวัตกรรม คู่แข่งเลียนแบบยาก

วุ้นน้ำมะพร้าวเป็นคำตอบ เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม แต่ความรู้ด้านการทำธุรกิจอาหารเป็นศูนย์ จึงต้องศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้น พบว่า วุ้นน้ำมะพร้าว NATA de coco ใช้แบคทีเรียกรดน้ำส้ม Acetobacter xylinum ที่พบได้ทั่วไปในการทำน้ำส้มสายชูหมักตามธรรมชาติ มาหมักน้ำมะพร้าว จนได้ออกมาเป็นวุ้นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีไฟเบอร์สูง ถูกจัดให้อยู่ในหมวดสารอาหารประเภทเส้นใย ไม่มีการใช้สารฟอกสี ทำให้สีของวุ้นจะขุ่นกว่าวุ้นปกติ จึงเหมาะกับผู้รักสุขภาพ 

เมื่อได้วัตถุดิบหลักแล้ว ก็มาคิดต่อว่าหากขายแต่วุ้นน้ำมะพร้าวอย่างเดียวก็จะไม่มีความแตกต่าง จึงต้องหาสินค้าทางการเกษตรตัวอื่นมาใส่ และมองว่า เม็ดแมงลัก น่าจะเข้ากับตัววุ้นน้ำมะพร้าวดีที่สุด

ปัญหาสำคัญของแมงลัก คือ การปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงได้นำนวัตกรรมเครื่องนวดฝัดเม็ดแมงลักแบบแห้งของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาใช้ เพื่อให้เม็ดแมงลักปราศจากสารปนเปื้อน จนออกมาได้เป็นวุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักแบบถ้วยวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อปี 2541 เพียง 20 สาขา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 26 ปี 

ไขความลับ “แม่ละมาย” วุ้นมะพร้าว 300 ล้าน ชูนวัตกรรมหนีเลียนแบบ

เดินหน้ายกระดับ “สินค้าเกษตร” สู่ร้านค้าเซเว่นฯ 

หลังวุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักประสบความสำเร็จ วีระ ก็เดินหน้าพัฒนาสินค้าอื่นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักแนวคิดการส่งต่อสินค้าดีๆให้ผู้บริโภค ส่งผลให้ปัจจุบันแบรนด์ แม่ละมาย มีสินค้าวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งหมด 10 รายการ แบ่งเป็น ขนมหวาน 7 รายการ เครื่องดื่ม 2 รายการ และธัญพืช (แห้ว) 1 รายการ

แห้วถือเป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2567 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ดีต่อสุขภาพ และเป็นธัญพืชที่หาทานค่อนข้างยาก เพราะแห้วที่ดีคือ แห้วที่เป็นผลผลิตจาก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 

แม่ละมาย ยังมุ่งมั่นยกระดับพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นให้มีคุณภาพ พร้อมส่งต่อสู่ผู้บริโภค อาทิ ลูกตาล ลูกลาน ใบเตย โดยเลือกรับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรที่เพาะปลูกแบบไร้สารเคมี ผ่านการตรวจสอบจากทางบริษัทก่อนจัดเก็บ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายให้กับผู้บริโภค 

ไขความลับ “แม่ละมาย” วุ้นมะพร้าว 300 ล้าน ชูนวัตกรรมหนีเลียนแบบ

“โตไกลไปด้วยกัน” คาถาโตยั่งยืน 

แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพียง 10 รายการ ในราคาขายต่อชิ้นเพียงหลักสิบบาท แต่บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 20-40% ทุกปี โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มียอดขาย 150 ล้านบาท 

เหตุใด “แม่ละมาย” ที่จำหน่ายสินค้าในราคาหลักสิบ จึงสามารถสร้างรายได้สูงถึงหลัก 100 ล้านบาท 

วีระ กล่าวว่า บริษัทจะประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีทีมที่ดี ทีมที่แข็งแกร่ง ซึ่งทีมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทีมภายในบริษัท แต่หมายถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริษัทในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทีมต้นทางอย่างเกษตรกรและซัพพลายเออร์ก็ต้องดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพตามความต้องการ ทีมกลางทางอย่างบริษัทก็ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีมีคุณภาพ ตั้งแต่ระบบการคัดเลือกวัตถุดิบ โดยทางบริษัทจะมีการบันทึกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อเวลามีปัญหาบริษัทจะได้เข้าไปแก้ไขได้ตรงจุด  

ไขความลับ “แม่ละมาย” วุ้นมะพร้าว 300 ล้าน ชูนวัตกรรมหนีเลียนแบบ

ทำให้บริษัทสามารถส่งต่อความรู้เหล่านั้นสู่ทีมต้นทาง เพื่อผลิตวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพพร้อมส่งต่อไปยังผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพก็จะเกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ เรียกว่าเป็นการสร้างการเติบโตไปด้วยกันในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

กำไรหรือเรื่องเงินเป็นแค่องค์ประกอบของการทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่ Key Success ของธุรกิจ ถ้าทำธุรกิจได้แบบนี้ยังไงก็ประสบความสำเร็จและเติบโตยั่งยืน ปัจจุบันบริษัทรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศและสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนปีละหลาย 10 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของยอดขาย