posttoday

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา

28 กันยายน 2567

จากนักวิจัยสู่นักธุรกิจ ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ซีอีโอ บริษัท เอไอ ไนน์ จำกัด ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า นักวิจัยก็สามารถออกมาทำธุรกิจได้ หัวใจหลักสำคัญคือ มีงานวิจัยที่ดี แตกต่าง แผนธุรกิจต้องเป็นไปได้ กับเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน

ผมเป็นนักวิจัยเนคเทค อยู่กับงาน AI มา 16 ปี ระหว่างนั้นก็ได้พบปะผู้ประกอบการจำนวนมาก เพราะงานวิจัยของเราต้องขายสิทธิบัตรให้เอกชนไปทำต่อ ตอนนั้นเริ่มชอบการทำธุรกิจ ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ อ่านเรื่องราวของ มาซาโยชิ ซัน SoftBank พอมีโอกาสได้ออกมาเป็นสตาร์ทอัพ ผมรีบโดดเข้าร่วมโครงการทันที โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องนำงานวิจัยของเนคเทคออกมาทำตลาด

ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท เอไอ ไนน์  จำกัด (Ai9) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเทคโนโลยี AI ด้านการแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ (Speech to text: STT) และเทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP)  เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจ เมื่อปี 2563 โดยมีเพื่อนนักวิจัยอีก 2 คนร่วมทีม คือ ศิลา ชุณห์วิจิตรา และ สุรีพร กระจง

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา

สุรีพร กระจง , ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ,ศิลา ชุณห์วิจิตรา ผู้ก่อตั้ง Ai9

พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัท NSTDA Startup ที่เกิดขึ้นภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีผู้ร่วมก่อตั้งหลัก คือ บริษัทเทอราบิท จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที 

ก่อนหน้าที่จะผันตัวจากนักวิจัยสู่นักธุรกิจ ผมก็เคยเขียนโปรแกรมวิเคราะห์ความเห็นในโซเชียลมีเดีย จนมีเอกชนซื้อไลเซ่นส์ไปใช้ในธุรกิจมาแล้ว ตอนนั้น เฟซบุ๊ก บูม คนก็อยากรู้ความเห็นของคนที่เข้ามาใช้งาน ทำให้ผมเองก็อยากเป็นนักธุรกิจเพราะเมื่อเราเชี่ยวชาญ เราก็อยากออกมาทำเองบ้าง 

เขาเล่าว่า NSTDA Startup ของเนคเทค ไม่ได้ปล่อยให้นักวิจัยออกไปทำงานเอง จากที่เคยชินเรื่องการสอนหนังสือ ทำวิจัย แล้วจะออกไปทำธุรกิจเลย เนคเทคมีโครงการบ่มเพาะการทำธุรกิจให้ด้วย เพราะสิ่งสำคัญคือ แผนธุรกิจ การหาตลาดที่เขาต้องรับผิดชอบในบริษัทตนเอง รวมถึงพนักงานบริษัทเกือบ 10 คน ดังนั้นแผนธุรกิจต้องผ่าน และต้องอยู่รอดให้ได้ในสนามจริง

เปิดปุ๊บ ขาดทุนทันที จากพิษโควิด

แม้การเริ่มต้นธุรกิจไม่ได้สวยหรู เพราะในช่วงที่ Ai9 เปิดตัว เป็นจังหวะเดียวกับโควิด ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจได้ในแบบปกติ บริษัทต่างๆ ต้องประหยัดงบประมาณ ทำไมบริษัทต้องลงทุนเพิ่มทั้งๆที่พนักงานก็ต้องทำภายใต้เงินเดือนที่ได้รับอยู่แล้ว มันไม่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ต้องลงทุนเหมือนระบบบัญชี หรือ ERP 

ยอมรับว่า ตอนนั้นแผนที่เสนอไม่เป็นอย่างที่คิด  แต่เขาก็ไม่ท้อ เพราะทุกคนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน จึงเน้นงานขายเล็กๆน้อยเพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนในบริษัท พร้อมกับการเรียนรู้ทดลองบริการในรูปแบบที่ต่างๆกันเพื่อหาบริการที่ใช่สำหรับบริษัท 

ช่วงปีแรก ลองผิด ลองถูกเยอะ ว่าจะนำ AI ไปใช้กับอะไรดี นำไปใส่ในหุ่นยนต์ตามร้านอาหาร สั่งงานด้วยเสียง ให้หุ่นยนต์เดิน ก็ทำมาแล้ว แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ สุดท้ายก็ไม่เวิร์ค จนมาพบคำตอบที่การถอดเสียงการประชุม

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา

ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ซีอีโอ Ai9

จุดเด่นของโปรแกรมคือ ถอดเสียงเป็นข้อความและสรุปให้ สามารถเขียนชุดคำสั่งที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละองค์กรได้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และ แม่นยำ โปรแกรมของ Ai9  จึงไม่เหมือนกับ กูเกิ้ล ไมโครซอฟท์ หรือ สตาร์ทอัพไทย รายอื่น ที่เป็นโปรแกรมสำหรับส่วนบุคคล แบบทั่วไป

ปัจจุบัน Ai9 มีแพลตฟอร์มที่พร้อมให้บริการ 4 ระบบ ได้แก่ ‘MANNA’ แพลตฟอร์มบริการถอดเสียงสำหรับระบบคอลเซนเตอร์ (Call Center) เพื่อให้บริการตรวจสอบไฟล์บันทึกเสียงสนทนาพร้อมการวิเคราะห์ข้อความ ‘VATAYA’ แพลตฟอร์มบริการแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ (Speech-to-Text) และแปลงข้อความเป็นเสียงพูด (Text-to-Speech) ‘CUICUI’ แพลตฟอร์มสร้างแชทบอท (Chatbot) และวอยซ์บอท (Voicebot) สำหรับสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติ ‘TASANA’ แพลตฟอร์มบริการสร้างคำบรรยายภาษาไทย (Subtitle) สำหรับวิดีโอคลิปแบบอัตโนมัติเพื่อการใช้งานบน ยูทูป และ เฟซบุ๊ก

จุดเปลี่ยนพลิกขาดทุน ลูกค้ามั่นใจสตาร์ทอัพไทย

ชูชาติ เล่าว่า จริงๆแล้ว AI อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่คนไม่มั่นใจใช้งาน จังหวะที่ตนเองนำเทคโนโลยี AI ดังกล่าวออกมาทำการตลาดเชิงพาณิชย์ เป็นจังหวะที่ดี ทุกวันนี้ AI เป็นเครื่องมือที่คนยอมรับ บวกกับ แชท จีพีที ออกมาด้วย ทำให้การใช้งาน AI ยิ่งแพร่หลายมากขึ้น

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา

ถามว่า แล้วอะไรคือจุดพลิกผันที่ทำให้บริษัทอยู่รอด ชูชาติ เล่าว่า การได้ลูกค้าภาครัฐ อย่างรัฐสภา คือ จุดพลิกผันที่สำคัญ ที่ทำให้ Ai 9 มี เคสการใช้งานที่ทำให้ตลาดมั่นใจว่า โปรแกรมของ Ai9 ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เขาเล่าย้อนไป เมื่อ 2 ปีก่อนว่า ด้วยความที่รัฐสภา เป็นหน่วยงานภาครัฐ และเขาต้องการช่วยเจ้าหน้าที่บันทึกการประชุม กว่า 80 คน ไม่เหนื่อย อ่อนล้า หรือ สุขภาพย่ำแย่ จากการบันทึกการประชุมที่ยาวนาน ติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือ ข้ามวัน ที่สำคัญการนำโปรแกรมมาใช้งานต้องมั่นใจได้ว่า การเก็บข้อมูลต้องอยู่ในประเทศ ข้อมูลที่เป็นความลับ ไม่ควรอยู่นอกประเทศ ทำให้ Ai9 คือ สตาร์ทอัพไทยที่สามารถคว้างานจัดซื้อจัดจ้างการถอดเสียงประชุมเป็นข้อความที่สามารถถอดตัวเลขเป็นเลขไทยได้ด้วย

เมื่อมีลูกค้ารายใหญ่เข้ามาพิสูจน์บริการของ Ai 9 ว่าใช้งานได้จริง การต่อยอดไปสู่หน่วยงานอื่นจึงไม่ใช่เรื่องยาก 

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา

บริษัทจึงได้เขียนโครงการของบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อนำร่องกับ 10 องค์กรทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในการทดลองใช้บริการฟรี 1 ปี และหวังว่า 50% จะหันมาใช้บริการของบริษัทต่อเนื่อง

นอกจากบริการถอดเสียงการประชุมแล้ว การวิเคราะห์เสียงของคอลเซ็นเตอร์เพื่อตรวจสอบรายการที่ต้องแจ้งกับลูกค้า เช่น ลูกค้าประกัน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ AI ทำแทนคนได้ เพราะ AI สามารถตรวจสอบได้ทุกไฟล์ ผิดกับการใช้งานคนที่ต้องทำงานแบบสุ่มตรวจ

Ai 9 ยังได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการวิเคราะห์เนื้อหารายการทีวีดิจิทัล เพื่อตรวจสอบหาเนื้อหาที่ควรเซ็นเซอร์ หรือไม่เหมาะสมออกไป 

Ai9 แปลงเสียงเป็นข้อความ งานวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในรัฐสภา ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ซีอีโอ Ai9

ทำสินค้าเรือธงให้ดี เจาะฐานลูกค้าให้ลึก

ถามว่า บริษัทมีแผนขยายบริการเพิ่มหรือไม่ นั้น ชูชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ ขอทำสินค้า 2 ตัว คือ บริการถอดเสียงประชุม และ บริการวิเคราะห์เสียง ให้ดีก่อน เพื่อจะได้โฟกัส และขยายฐานลูกค้าให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น  เพราะโปรแกรมของ Ai 9 คือ ลูกค้าองค์กร บริษัทต้องเขียนชุดคำสั่งที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละองค์กร 

ดังนั้นการโฟกัส 2 บริการนี้ให้เป็นเรือธง ก็จะส่งผลดีต่อโปรแกรมเมอร์ของ Ai9 ด้วย เพราะจะมีเวลาในการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประสิทธิภาพของบริการแม่นยำ มีเวลาโฟกัสกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแบบลงลึก และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด 

สุดท้าย ผมไม่อยากให้เรียกพวกเราว่า สตาร์ทอัพ เราคือ ผู้ประกอบการ เราคือ SME ที่ตั้งใจทำธุรกิจ เราค่อยๆขยายธุรกิจ อยู่บนความระมัดระวัง ไม่ใช่ว่า ล้ม ก็ ล้ม ได้ ปล่อยให้ล้มไป เราต้องการเติบโตอย่างมั่นคง