พาณิชย์ แนะทางรอด SME รุกส่งออก หาพันธมิตรปักหมุดเพื่อนบ้าน
เผยถึงเวลา SME เปิดน่านน้ำธุรกิจใหม่ หาพันธมิตรร่วมลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป โอกาสสูงในประเทศเพื่อนบ้าน ชูความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ-นวัตกรรม
นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ โพสต์ทูเดย์ ถึงโอกาสของ SME ในการบุกตลาดต่างประเทศ ว่า ต้องเริ่มจากสินค้าที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยก่อน คือ สินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยรูปแบบการลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นการทำเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่สามารถทำได้ด้วยการร่วมลงทุนกับนักลงทุนในประเทศนั้นๆ เพราะในบ้านของเขาก็มีการส่งเสริมการลงทุนแบบบีโอไอ บ้านเรา เช่นกัน
ลาว เมียนม่า กัมพูชา เวียดนาม ชื่นชอบอาหารไทยอยู่แล้ว เพื่อนบ้านมาเที่ยวที่บ้านเรา มีคนมาทํางานที่บ้านเรา มาเป็นนักท่องเที่ยวบ้านเรา กลับไปเขาก็คิดถึงอาหารไทย ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของอาหารเป็นสิ่งสำคัญมาก
ดังนั้น รูปแบบการส่งออกของประเทศไทยที่อยากเห็น คือ การเข้าไปลงทุนกับนักลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อบุกตลาดที่นั่น คนไทยจะได้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนด้านภาษี และประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า นอกจากไทยมีจุดเด่นเรื่องสินค้าเกษตรแล้ว เทคโนโลยีในการแปรรูปสินค้าก็สามารถนำเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้
นายวิมล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การแข่งขันในประเทศสูงมาก ถึงเวลาแล้วที่ SME ต้องหาแหล่งน่านน้ำใหม่ ที่สำคัญต้องหาพันธมิตรให้เจอ ศึกษากฎระเบียบของแต่ละประเทศอย่างละเอียด SME สามารถให้ทูตพาณิชย์ซึ่งเรามีอยู่แล้วช่วยให้คำปรึกษาได้
ส่วนประเด็นค่าเงินบาท ที่ผันผวน อาจมีผลต่อยอดขายของ SME ทำให้รายได้ส่งออกไม่แน่นอนนั้น เขากล่าวว่า สินค้า SME ต้องมีจุดเด่น ต้องมีนวัตกรรม ที่สำคัญต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ต้องเลิกมีรายได้จากการเกร็งกำไรค่าเงินบาท เพราะเมื่อเรามีธุรกิจอยู่ต่างประเทศ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบแลกเปลี่ยนเงิน โอนเงินมาประเทศไทย ตลอดเวลา หรือ ทุกวัน