บสย. โชว์ 9 เดือน ปลดล็อก SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ทะลุ 34,000 ล้านบาท
บสย.เผยผลดำเนินงาน 9 เดือน ปี67 ช่วยลดล็อก SMEs เข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,634 ราย ผ่านกลไกการค้ำประกันกว่า 4,543 ล้านบาท ดันมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1.4 แสนล้าน เชื่อหนุนเม็ดเงินลงทุน ปลุกเศรษฐกิจปลายปี
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค-ก.ย.) สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพิ่มสินเชื่อในระบบและช่วยรักษาการจ้างงาน ตลอดช่วยลูกหนี้ บสย. ปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ โดยตลอด 9 เดือน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย
แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro SMEs ในสัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่
1. โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 16,942 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 65,356 ราย
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,543 ราย
3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 4,255 ราย
ผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการ PGS 11 “บสย SMEs ยั่งยืน” ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงกันยายน ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนยังมุ่งเน้นมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจจากภาครัฐ
สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 27.78% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.98% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 9.87% ซึ่งทั้ง 3 หมวดครองสัดส่วนค้ำประกัน 50% สอดคล้องกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับการตอบรับสูงสุดคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Ignite Biz ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มียอดค้ำประกัน 4,444 ล้านบาท โดยค้ำประกันให้กับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. การแพทย์และสุขภาพ 3. อาหาร 4. การบิน 5. ขนส่ง 6. ผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. เศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. การเงิน
จากตัวเลขการค้ำประกันที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว ไฮซีซั่นช่วงไตรมาส 4 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก
สำหรับความสำเร็จที่ชัดเจนของ บสย. ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คือ การให้คำปรึกษาทางการเงิน พบว่า มีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92%
ทั้งนี้ ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ยสูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง 7% โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการ เดือนเม.ย. 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้รวม 16,068 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,240 ล้านบาท ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการร่วมมาตรการ “ปลดหนี้”จำนวน 114 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง