posttoday

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ

26 พฤศจิกายน 2567

จากพื้นที่ 20 ไร่ในวังน้ำเขียว สู่ฟาร์มอัจฉริยะที่สร้างรายได้และความมั่นคงให้ผู้พิการ @View Share Farm เปลี่ยนภาพจำของอาชีพคนพิการ ด้วยเทคโนโลยี IoT พร้อมขยายสู่วิสาหกิจชุมชนต้นแบบครบวงจรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นทั่วประเทศ

"เราไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่ที่การขายล็อตเตอรี่" 

          เสียงของพงษ์เทพ อริยเดช ประธานวิสาหกิจชุมชน @View Share Farm ย้ำอย่างหนักแน่น ในขณะที่เขาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรรมแห่งนี้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "คนพิการสามารถทำได้มากกว่าที่คนทั่วไปคาดหวัง"

          ย้อนกลับไปในปี 2558 เขาเริ่มต้นรวมกลุ่มผู้พิการในตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่ผู้พิการหลายคนต้องเผชิญ การพึ่งพาเบี้ยคนพิการเพียงเดือนละ 800 บาทไม่ใช่คำตอบสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน แต่การสร้างรายได้ที่มั่นคงผ่านการทำงานที่เหมาะสมคือคำตอบ

          การรวมกลุ่มและทำอาชีพเกษตรกรรมร่วมกัน ทำให้ผู้พิการมีรายได้ตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ 330 บาทต่อวัน ผู้พิการแต่ละคนมีรายได้เพิ่มอีกปีละแสนกว่าบาท ตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ จ้างงานหรือให้การสนับสนุนโครงการหรือการประกอบอาชีพของคนพิการได้
 

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ กลุ่ม@View Share Farm

จากฟาร์มธรรมดาสู่ฟาร์มอัจฉริยะ

          ในวันเริ่มต้น พวกเขามีเพียงพื้นที่ 20 ไร่ จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และเลือกปลูกข่าเหลืองเป็นอาชีพแรก “ต้นข่ากลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเรา” พงษ์เทพ เล่าพร้อมรอยยิ้ม โลโก้ของกลุ่มเป็นรูปต้นข่า และชื่อ View Share Farm ก็มีที่มาจากคำพ้องเสียงของคำว่า "วิลแชร์"

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ โลโก้กลุ่มที่มีความหมายซ่อนอยู่

          ทว่าสิ่งที่ทำให้ฟาร์มนี้แตกต่าง คือการนำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาช่วยยกระดับการเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการติดตั้งโรงเรือนอัจฉริยะ ใช้ระบบ IoT และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตเอง ไม่เพียงใช้ภายในฟาร์มเท่านั้น แต่ยังจำหน่ายให้การไฟฟ้า สร้างรายได้เพิ่มเติม

การสนับสนุนที่ช่วยเปลี่ยนแปลง

          ปี 2564 วิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ด้วยงบประมาณ 100,000 บาท พร้อมกับเงินลงทุนของกลุ่มอีก 100,000 บาท พวกเขาเริ่มสร้างโรงเรือนขนาด 6x12 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน เพื่อปลูกเมล่อนสายพันธุ์ Golden Pink ที่ให้ผลผลิตลูกใหญ่และมีคุณภาพดี สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละสองครั้ง รวมกว่า 175 ลูก ขายได้ราคากิโลกรัมละ 90 บาท รายได้นี้ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับสมาชิกในกลุ่มอย่างชัดเจน

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ โรงเรือนอัจฉริยะ

          ระบบโรงเรือนอัจฉริยะและตู้ควบคุมระบบน้ำ ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตถึง 70% ขณะที่พลังงานจากโซล่ารูฟท็อปยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้อีก

จากฟาร์มสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

          ความสำเร็จของ @View Share Farm ไม่ได้หยุดเพียงแค่การเกษตร พวกเขายังพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจร มีบริการห้องพักในบรรยากาศธรรมชาติ ราคาเริ่มต้นคืนละ 1,700 บาท พร้อมทั้งผลิตน้ำดื่ม RO เพื่อใช้และจำหน่ายในชุมชน

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ ที่พักราคาถูกแต่รวยด้วยวิวและบรรยากาศ

          ดีป้ายังสนับสนุนแพลตฟอร์มจัดการระบบโฮมสเตย์ ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการจองและชำระเงิน ทำให้การจัดการธุรกิจของกลุ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ

          จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรกว่า 3 ล้านคน และในนั้นมีผู้พิการถึง 98,000 คน @View Share Farm ถือเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับชุมชนอื่นๆ พงษ์เทพ เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 50 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการ ที่ใช้สิทธิ์มาตรา 35 ของปี 67 จำนวน 24 สิทธิ์  จาก 13 อำเภอ

View Share Farm พลิกชีวิตผู้พิการ สู่วิสาหกิจต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ

พงษ์เทพ อริยเดช ประธานวิสาหกิจชุมชน @View Share Farm

          แม้พวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง แต่ความตั้งใจของกลุ่มที่จะพัฒนายังคงแน่วแน่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยืนยันว่าจะช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป

เราคือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า คนพิการสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ถ้าเราได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ถูกต้อง