สสว.จัดเต็มบริการ SMEs ปรับตัวสู่ความยั่งยืนทั้งความรู้และเงินทุน
เผย SMEs จำนวน 60 % ทราบเรื่อง ESG แต่มีเพียงจำนวนน้อยมากที่ทำเป็น สสว.พร้อมอัดบริการจัดเต็มทั้งโปรแกรมความรู้ก้าวสู่ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนเงินทุนเข้าถึงเครื่องมือบริหารจัดการองค์กร แนะโหลดแอป SME Connext เลขาส่วนตัวเข้าถึงความช่วยเหลือตรงจุด
นายวัณณะวัฒน์ โอภาสวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business หัวข้อ Empowering SMEs Toward Sustainability จัดโดยกรุงเทพธุรกิจว่า การแบ่งประเภทของ SMEs ดูที่รายได้เป็นหลัก โดยกลุ่มไมโครของภาคการผลิตต้องมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มขนาดเล็ก ต้องมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท และ กลุ่มขนาดกลาง ต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 บาท ซึ่งจำนวน SMEs ในประเทศอยู่ที่ 3.2 ล้านราย โดย 80% เป็นผู้ประกอบการระดับไมโคร รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท
สำหรับเสียงสะท้อนที่สำคัญเรื่องความยั่งยืนนั้น จากการสำรวจพบว่า SMEs ใน 100% จะมีเพียง 60% ที่ทราบว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในจำนวนที่ทราบนั้น ปรากฏว่ามีส่วนน้อยมากที่รู้และตระหนักว่าสำคัญต่อการเงิน ต่อธุรกิจและอนาคต และน้อยไปกว่านั้นอีกคือ มีเพียงแค่จำนวนนิดเดียวที่ทำเป็น
ส่วนใหญ่ SMEs ทำเรื่องความยั่งยืนค่อนข้างลำบากในมุมมองของเขาเอง ซึ่งจริงๆเมื่อได้สัมผัสกับผู้ประกอบการ SMEs บางคนทราบว่า ต้องการทำมากและตระหนักว่าอนาคตสำคัญมากและผู้บริโภคก็เรียกร้องให้ทำ เช่นกัน ทว่าสิ่งสำคัญที่อยากให้ช่วยคือ การให้ความรู้ว่าต้องทำอย่างไรหรือว่าทำด้วยวิธีการแบบไหนบ้างและต้องการเงินทุนในการช่วยเหลือสนับสนุนให้เขาสามารถปรับตัวได้ แน่นอนว่าเขาเห็นว่าเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญแต่ไม่รู้จะเดินหน้าไปอย่างไร
นายวัณณะวัฒน์ กล่าวว่า SMEs ยังขาดความรู้ ถ้ามีความรู้เขาจะเข้าใจเรื่องและตัดสินใจปรับตัวง่ายขึ้น ดังนั้น สสว.จึงมีรูปแบบการให้ความรู้แบบ e-learning online academy 365 คล้ายๆ กับ netflix เพื่อให้ SMEs เข้ามาเรียนรู้ออนไลน์ โดยมีหลักสูตรกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้วย
นอกจากนี้ในมุมของค่าใช้จ่าย หรือ เงินทุน ในการปรับตัวสู่ ESG สสว.ก็มี BDS (Business Development Service) บริการที่สสว.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการ SME on demand service ช่วยให้ SMEs สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาได้ด้วยตัวเองเช่น เรื่องการจัดทำมาตรฐาน เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาประสิทธิภาพ ตลอดจนเรื่องการตลาด ซึ่งสสว. จะออกค่าใช้จ่ายให้ 80% สำหรับ SMEs ระดับไมโคร และ 50% สำหรับ SMEs ขนาดกลาง
เครื่องมือที่ช่วยให้ SMEs ก้าวสู่ ESG เช่น การทดสอบการประเมินคาร์บอนเครดิต ของตนเอง การพัฒนาระบบบริหารจัดการตัวเองให้โปร่งใส ก็สามารถเลือกรับบริการต่างๆในจังหวัดต่างๆหรือแม้แต่การจัดทำบัญชีให้มีการใช้ซอฟต์แวร์บัญชี รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆลดการใช้พลังงานมากขึ้น เป็นต้น
ใน 1 ปี SMEs สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง งบประมาณไม่เกิน 2 แสนบาท
นอกจากนี้ สสว.ยังมีบริการ SMEs coach เพื่อให้คำปรึกษา หากต้องการปรับตัว หรือ นำพาองค์กรไปสู่ ESG แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บริการนี้ สสว.มีบริการออฟไลน์ฟรี 2 ครั้ง และ บริการออนไลน์ฟรี 2 ครั้ง
เขาอธิบายต่อว่า ปัจจุบันนี้ต้องถือว่า SMEs มีความตื่นตัวมากกว่าที่ผ่านมา จากแรงกดดันของผู้บริโภค รวมถึงซัพพลายเชน ต่างๆ SMEs หลายราย เชื่อว่าหากทำตามนโยบาย ESG ลูกค้าจะเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้นขอเชิญชวนสำหรับ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นให้เข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน SME Connext เพื่อเข้าถึงบริการต่างๆของภาครัฐ เหมือนมีเลขาส่วนตัว เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือต่างๆได้ตรงจุดมากที่สุด อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากภาคเอกชนเมื่อเป็นสมาชิก เช่น การยิงไลน์แอดฟรี และ การใช้บริการเว็บไซต์ e-commerce ของไอเน็ต เป็นต้น