ดีป้าเปิดผลงานชุมชนโดรนใจ 1 ปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านบาท
พร้อมประกาศ 2 โครงการใหม่ สมาร์ท ลิฟวิ่ง ตั้งเป้า 45 ชุมชน 8 จังหวัดและ ดิจิทัลทุเรียน จดบันทึกข้อมูลติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียนกว่า 6,000 ครัวเรือน ยกระดับสู่บิ๊ก ดาต้า
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การดำเนินโครงการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ของโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ONE TAMBON ONE DIGITAL: OTOD) (ชุมชนโดรนใจ) โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อรองรับการเติบโตของระบบนิเวศโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาตบิน และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร 5 แห่งทั่วประเทศ Academy and Licensing Platform หรือระบบการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโดรนเพื่อการเกษตร หลักสูตรการฝึกอบรมอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินควบคุมจากภายนอกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
รวมถึงมาตรฐานโดรนเพื่อการเกษตรสัญชาติไทย โดยการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผ่านการรับรองภายใต้เครื่องหมาย Made in Thailand (MiT) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ dSURE ของ ดีป้า
2.ระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ประกอบด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ซ่อม และยกระดับช่างชุมชนสู่ช่างซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร
โดรนในโครงการชุมชนโดรนใจ
อีกทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน รวมถึงจัดการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรระดับประเทศ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024
3. การพัฒนากำลังคนดิจิทัลสู่เกษตรกรดิจิทัล (Digital Manpower) ประกอบด้วย ช่างซ่อมบำรุงโดรนเกษตร 100 คน โดยสามารถยกระดับทักษะได้ตามเป้าหมาย ขณะที่นักบินโดรนเกษตร 1,000 คน สามารถพัฒนาทักษะได้กว่า 1,500 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 10,000 ครัวเรือน พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ดีป้า ยังพร้อมเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มชุมชนและเกษตรกรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ ผ่านโครงการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น OTOD (SMART LIVING) โดยการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมใน 45 ชุมชน 8 จังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ และ OTOD (DIGITAL DURIAN) โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อจดบันทึกข้อมูลติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียนกว่า 6,000 ครัวเรือน และรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data ด้านการเกษตร ซึ่งเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มองค์ความรู้ด้าน E-commerce การยื่นขอรับรองมาตรฐานและข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและภาคเกษตรกรรมไทย เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไป