สสว.คาด GDP เอสเอ็มอีไทยปี 68 โต 2.5-3.5%
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวว่า GDP เอสเอ็มอีไทยในปี 2568 คาดจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการผลิต เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
ทั้งนี้ เอสเอ็มอี ยังคงต้องกังวลกับสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนบุกตลาดไทยและทั่วโลก เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวจากความท้าทายดังกล่าว โดยสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ หรือการสร้างคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ไทย
จากการศึกษาของ สสว. ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีศักยภาพสูงในหลายด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว แหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แต่ยังขาดการเชื่อมโยงไปยังสินค้าและบริการที่จะส่งผ่านคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย
หากเอสเอ็มอีไทยจะก้าวข้ามและสามารถแข่งขันได้ในระยะต่อไป จำเป็นต้องสู้ในธุรกิจมูลค่าสูง โดยการยกระดับสินค้าและบริการด้วยคุณค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าและบริการตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ต้องสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการเชิงอารมณ์ ที่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ประสบการณ์ที่แตกต่าง ประสบการณ์ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่าความปกติ สามารถส่งผ่านประสบการณ์ผ่าน Social Media ได้
ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการและรักษาการ ผอ.สสว.
นางสาวปณิตา กล่าวว่า การยกระดับ พัฒนาสินค้าและบริการให้ไปถึงความต้องการนั้นได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยแรกแนวความคิดของผู้ประกอบการ วิสัยทัศน์ของตัวผู้ประกอบการเองที่มีความสามารถในการมองเห็นโอกาส ทิศทาง หรือแนวโน้มอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ การสร้างคอนเนคชั่นในเชิงธุรกิจสามารถเชื่อมโยงและนำไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจัยที่สองการเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อาทิ ความเข้าใจและจำแนกกลุ่มลูกค้าของตนได้อย่างชัดเจน สามารถสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด พัฒนากลยุทธ์การตลาดกับกลุ่มเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงและเกิดความต้องการ เช่น การสร้างเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสินค้าหรือบริการ การดึงจุดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถใช้กลยุทธ์และเครื่องมือการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้
ปัจจัยที่สาม การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งต่อคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีพื้นฐานจากการใช้วัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพ การมีทักษะการผลิตหรือการให้บริการขั้นสูง มีมาตรฐานหรือผ่านการประกวด ได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและบริการ
ทั้ง 3 ปัจจัยหลักถูกเชื่อมโยงกันและขับเคลื่อนเป็นพลวัต ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จได้
นางสาวปณิตา ส่วนการสร้างธุรกิจมูลค่าสูงนั้น ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดและเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สามารถส่งผ่านคุณค่าของสินค้าและบริการนั้น ไปยังเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้เกิดความต้องการเชิงอารมณ์ มากกว่าแค่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไทย ศิลปะท้องถิ่น ทรัพยากรเฉพาะถิ่น นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งการใช้เครื่องมือการตลาดที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง คุณค่าดังกล่าวสามารถทำให้ผู้บริโภคมองข้ามปัจจัยด้านราคา และยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าที่ได้รับ และเป็นการสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้