บอร์ด สสว. เคาะงบ 2.3 พันล้านบาท หนุน SME เข้าถึงเงินทุน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเอสเอ็มอี โดยในวันนี้ (19 ธ.ค. 2567) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ SME กู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของ SME ให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนหรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวการดำเนินงาน ได้แก่ 1.สนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของ SME ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank
2.สนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท โดยสสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยาม SME ของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน โดยธุรกิจขนาดไมโคร วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท หรือ สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 MSME จ่ายร้อยละ 20
สำหรับ SME ขนาดเล็ก หรือ SMALL วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 เช่นกัน ส่วนนิติบุคคล ขนาดธุรกิจ คือขนาดกลาง สสว. สนับสนุน ร้อยละ 50 วงเงินสนับสนุน ไม่เกิน 200,000 บาท
3.จัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านกิจกรรม Made in Thailand by สสว. ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู SME จากสาธารณภัยปี 2567 เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME ได้เพิ่มช่องทางและโอกาสด้านการตลาด
อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้และการเพิ่มยอดขาย สร้างโอกาสในการรับรู้ถึงแบรนด์สินค้าในต่างท้องถิ่นไทยในพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการเร่งฟื้นฟูให้เศรษฐกิจท้องถิ่นกลับมาสู่ภาวะการประกอบธุรกิจให้เป็นปกติโดยเร็ว ภายใต้ "แบรนด์ไทยทำถึง" กับผู้ประกอบการ SME จำนวน 1,200 ราย
ปี 2568 ใช้งบประมาณ 66,706,250 บาท จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อจากกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 90 ล้านบาท