posttoday

อัพเดท 5 เทรนด์ที่ SME ต้องจับตาในปี 2025 ยุคการตลาด Gen Z

19 มกราคม 2568

อัพเดท 5 เทรนด์สำคัญที่ SME ต้องจับตาในปี 2025 เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ในยุคที่คน Gen Z มีอำนาจซื้อในตลาดสูงสุด

นับเป็นอีกปีที่สำนักเศรษฐกิจหลายแห่งต่างคาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งความปั่นป่วนของภาคธุรกิจจากปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้น 

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ อัตราหนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูง ธุรกิจโดยเฉพาะ SME ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ตลอดจนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 337-400 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2568  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับลูกจ้างและประสิทธิภาพในตลาดแรงงาน  สะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพ ความสามารถของนายจ้างและสภาพเศรษฐกิจ

โดยที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (ฝวต.) รายงานว่า ปี 2567 ธุรกิจ SME มีการจ้างงาน จำนวน 12.93 ล้านคน อยู่ในภาคบริการ 5.71 ล้านคน (44.20%) ภาคการค้า จำนวน 4.36 ล้านคน (33.74%) ภาคการผลิต จำนวน 2.77 ล้านคน (21.10%) และภาคธุรกิจการเกษตร จำนวน 0.09 ล้านคน (0.66%)
 

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีเทรนด์สำคัญที่ SME ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ความคืบหน้าของเทคโนโลยี AI ตลอดจนการปรับตัวสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้บริโภค และกฏกติกาการค้าโลก ดังต่อไปนี้ 


1.การนำ AI มาใช้พัฒนาสินค้าและบริการ

การนำ AI มาใช้ไม่ได้หมายความถึงการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อให้ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนำเครื่องมือมาใช้ในจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจด้วย

ในปี 2025 คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการนำ AI มาใช้ในรูปแบบเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ การจัดการภายในองค์กร การวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล และรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น

2.การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และความคล่องตัวของกระแสเงินสด

ความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ SME ต้องเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกระแสเงินสด เพราะมีผลต่อความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ โดยสิ่งที่ SME ต้องจับตาคือ 

ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ควรติดตามข่าวสารและแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เช่น อัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อวางแผนการเงินและการลงทุนให้เหมาะสม และควรมีการวางแผนรายรับรายจ่ายอย่างรอบคอบ เตรียมเงินสดสำรองไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น หรือเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระเงินกับคู่ค้า

 

3.การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z

ด้วยความที่คนรุ่น Gen Z กำลังกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูงสุดในตลาด SME จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดและการบริการเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการเฉพาะตัวของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยั่งยืนและความโปร่งใส 

Gen Z ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีจุดยืนเรื่องความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม การเน้นถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูด Gen Z ได้

หรือแม้แต่การเล่าเรื่องธุรกิจ-สินค้า ผ่านเนื้อหาแบบสั้น เพราะ Gen Z ชื่นชอบคอนเทนต์ที่กระชับและมีเอกลักษณ์ เช่น วิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok หรือ Instagram Reels ดังนั้น SME ควรสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจในช่วงเวลาสั้น ๆ และมีความสร้างสรรค์

ทั้งนี้ใช้การตลาดผ่านผู้มีอิทธิพล (Influencer Marketing) ด้วยการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเชื่อมโยงแท้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้ดีกว่าการตลาดแบบเดิม SME ควรเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแบรนด์และมีความสามารถในการถ่ายทอดคุณค่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ

และสุดท้ายคือการเน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้า Gen Z ชอบแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม เช่น การโต้ตอบในคอมเมนต์ หรือการเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์

ทั้งนี้ การเข้าใจและปรับตัวเข้าหา Gen Z ไม่เพียงแต่ช่วยให้ SME สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าสำคัญในปัจจุบัน แต่ยังสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีและช่วยให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว

 

4.กฎระเบียบด้านเทคโนโลยีและนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรสำคัญ ธุรกิจทุกขนาดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีและนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ลูกค้าและป้องกันความเสี่ยงด้านกฎหมาย โดยธุรกิจควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญดังนี้

  • ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องข้อมูล เช่น GDPR (สหภาพยุโรป) หรือ PDPA (ประเทศไทย) กำหนดให้ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองข้อมูลลูกค้า เช่น อีเมล รายละเอียดบัตรเครดิต และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ธุรกิจควรจัดทำมาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล เช่น การเข้ารหัสข้อมูล และการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึง
  • สร้างนโยบายความปลอดภัยของข้อมูล ธุรกิจควรมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเก็บรวบรวม ใช้งาน และปกป้องข้อมูล เช่น แจ้งให้ลูกค้าทราบว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกใช้เพื่ออะไร ตรวจสอบและอัปเดตระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ จัดทำแผนสำรองในกรณีข้อมูลถูกโจมตีหรือรั่วไหล ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ

กฎระเบียบด้านเทคโนโลยีและการคุ้มครองข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ธุรกิจควรสมัครรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น สื่อเฉพาะทางด้านกฎหมายหรือไอที รวมถึงเข้าร่วมการสัมมนาหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่ออัปเดตข้อมูลล่าสุด แต่งตั้งบุคคลหรือทีมดูแลด้านความปลอดภัย

 

5. ความยั่งยืนถือเป็นสิ่งจำเป็นทางธุรกิจ

ความยั่งยืนไม่ใช่กระแสอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกขนาด โดยเฉพาะ SME ที่ต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้บริโภค และพนักงานที่เรียกร้องให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น การผนวกแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างคุณค่าและความได้เปรียบในตลาด

ทั้งนี้การนำความยั่งยืนเข้าสู่การดำเนินงาน SME เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่มีผลกระทบเชิงบวก เช่น

  • ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน: เลือกซัพพลายเออร์ที่มีนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับการลดของเสีย
  • ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน: เปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้แทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
  • การชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจสามารถเข้าร่วมโปรแกรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การปลูกต้นไม้ การสนับสนุนพลังงานสะอาด หรือการลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืน เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ

การตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials มักให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีจุดยืนด้านความยั่งยืน ธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในด้านนี้จะสามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างความภักดีได้ดียิ่งขึ้น

 

ที่มา  : entrepreneur