ส่องแนวทาง 8 ประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าให้เติบโตได้อย่างไร

ส่องแนวทาง 8 ประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าให้เติบโตได้อย่างไร

31 มกราคม 2568

ส่องแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-หรือเครื่องนุ่งห่มใน 8 ประเทศ ทำอย่างไรให้เติบโต การผลักดันผู้ประกอบการท้องถิ่น เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนนโยบายความยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ปี 2568 ยังคงเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งหุ่ม เนื่องจากมีปัจ

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอรายงานว่า ปี 2568 เป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งหุ่ม เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคระมัดระวังด้านราคา การเกิดขึ้นของสินค้าเลียนแบบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับโครงสร้างการค้าโลก

นอกจากนี้ประเด็นความแตกต่างระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ยังคงมีโอกาสเติบโต แต่ผู้ประกอบการต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่าง 

การคว้าโอกาสเหล่านั้นจึงต้องอาศัยความสามารถในการรับมือกับอุปสรรคที่ซับซ้อน และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการหลาย ๆ แบรนด์ จำเป็นต้องมีการทบทวนกลยุทธ์ การปรับตัวเพื่ออยู่รอด และเป็นแบรนด์ที่ถูกเลือกในตลาด 

ทั้งนี้ จากปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่มในหลายประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวียดนาม การเติบโตของตลาดแฟชั่นเวียดนามก มาจากการเพิ่มขึ้นของ TikTok, มีแนวทางการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ กลายเป็นไวรัลในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ขณะที่หลายประเทศ มีแนวทางขับเคลื่อนโดยการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นท้องถิ่น ได้ส่วนร่วมกับแบรนด์ใหญ่ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ

ส่องแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่มใน 8 ประเทศ 

เวียดนาม เน้นดีไซน์ แปลกตา ราคาไม่สูง

เวียดนาม มีโรงงานผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากกว่า 6,000 แห่ง ทั้งยังมีแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 2.5 ล้านคน โดยเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่สำคัญอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย

ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การผลิตเสื้อผ้าของเวียดนามในปัจจุบัน มุ่งเน้นการออกแบบที่มีดีไซน์ แปลกตา โดดเด่น ราคาไม่สูง ทำให้แบรนด์เวียดนามได้รับความนิยมในหลายประเทศ ประกอบกับมีศิลปินและเซเลบริตี้ชื่อดัง หันมาใส่เสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามจำนวนมากอาทิ BLACKPINK,Rihanna และ Bella Hadid ได้เลือกใส่เสื้อผ้าแบรนด์ Cong Tri และ Fanci Club ส่งผลให้แบรนด์เวียดนามเป็นที่รู้จักในระดับสากล และทำให้เกิดแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย

ฟิลิปปินส์ สร้างงานคน-อัพเกรดแฟชั่นท้องถิ่น 

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างงานให้กับชาวฟิลิปปินส์ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ (OEM) จากแบรนด์ชั้นนำของต่างประเทศ

แต่ปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้ ส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นท้องถิ่นผ่านการสร้างแบรนด์ และความร่วมมือกับดีไซเนอร์ชั้นนำ เช่น Rajo Laurel และ Francis Libiran ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในการออกแบบเสื้อผ้าสไตล์หรูหราและมีเอกลักษณ์ ทำให้แบรนด์แฟชั่นท้องถิ่นของฟิลิปปินส์เริ่มได้รับความนิยมในตลาดโลก 

สหราชอาณาจักร ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีมูลค่าตลาดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป ข้อมูลจาก Statista บริษัทวิจัยตลาด ระบุว่าปี 2023 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 82,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2025- 2029 จะขยายตัวเฉลี่ย 3.38% ต่อปี 

สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และได้จัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรม Circular Fashion Innovation Network (CFIN) มีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างสภาแฟชั่นอังกฤษ และสมาคมสิ่งทอ และแฟชั่นสหราชอาณาจักร 

โดยในปี 2025 CFIN วางแผนที่จะเปิดตัวโครงการ Circular Business Models Accelerator Program เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน 

อิตาลี ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

อิตาลีเป็นประเทศที่มีมูลค่าตลาดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในทวีปยุโรป ข้อมูลจาก Statista บริษัทวิจัยตลาด ระบุว่าปี 2023 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 57,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เสน่ห์ของสิ่งทออิตาลีมาจากการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม เข้ากับการออกแบบที่ทันสมัยทำ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ ที่มีเอกลักษณ์และดึงดูดผู้บริโภคทั่วโลก

มีแนวโน้มสำคัญคือการพัฒนาเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มสู่ความยั่งยืน ภาคเอกชนของอิตาลีมีส่วนสำคัญและมีความตื่นตัวในการพัฒนาผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้วัสดุรีไซเคิล การใช้พลังงานหมุนเวียน และการลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมทั้งการรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม 

มีหลายแบรนด์มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน อย่างแบรนด์ Rifò แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ผลิตสินค้าจากวัสดุเส้นใยสิ่งทอรีไซเคิล มีแนวคิด การออกแบบเสื้อผ้าที่ยึดหลักเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้เครือข่ายการผลิตในท้องถิ่นของเมืองปราโต มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน ต่อชุมชนและสังคม 

สหรัฐอเมริกา เน้นเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

หลายแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำในสหรัฐฯ หันมาใส่ใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น แบรนด์ Patagonia ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตเสื้อผ้า และมีนโยบายให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาส่งให้ทางแบรนด์เย็บซ่อม หรือปรับปรุงเป็นสินค้าใหม่ที่สามารถใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งช่วยลดขยะและส่งเสริมการใช้ ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น รวมถึงแบรนด์ Reformation เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืนที่รับประกันว่าผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตออกมาปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย และเป็นมิตรต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

บราซิล สร้างเมืองแฟชั่น 

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Statista คาดการณ์ว่า ในปี 2025 ตลาดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของบราซิลจะสร้างรายได้กว่า 34,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.23% ต่อปี จนถึงปี 2029 รัฐบาลบราซิลมีนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มหลายประการ อาทิ การสร้างเมืองแห่งแฟชั่น ที่เมือง Acari โดยมีแผนการสร้างศูนย์ประชุม ร้านค้า โกดัง และห้องฝึกอบรม รวมถึงลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศ ควบคู่กับการริเริ่มโครงการ Exporta Mais Brasil ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมการส่งออกสินค้าจากบราซิลสู่ตลาด ต่างประเทศ โดยเน้นจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพกับผู้ซื้อทั่วโลก

ซาอุฯ หนุนแบรนด์ท้องถิ่น สร้างโอกาสผู้ประกอบการ 

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีมูลค่าตลาดเสื้อผ้าใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ตะวันออกกลางและแอฟริกา ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในปี 2024 ตลาดเสื้อผ้าของซาอุดีอาระเบียมีมูลค่า 19,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น สัดส่วน 18.19% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.9% ต่อปี จนทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2029 แฟชั่นการแต่งกายของซาอุดีอาระเบียมีการผสมผสาน สไตล์ดั้งเดิมของอาหรับอย่าง "โต๊ป (Thobe)” และ “อาบายะห์ (Abaya)” เข้ากับอิทธิพลร่วมสมัย ด้วยดีไซน์ สีสัน และวัสดุที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ที่นิยมสตรีทแวร์  แบรนด์หรู และดีไซน์ ตะวันออกที่ผสมผสานกับตะวันตก 

รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ “Saudi 100 Brands” เพื่อสนับสนุนแบรนด์ ท้องถิ่นจำนวน 100 แบรนด์ ในหลากหลายหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้า โดยแบรนด์ที่ได้รับเลือกจะได้รับการให้คำปรึกษาเฉพาะทาง การฝึกอบรม และคำแนะนำในการพัฒนาธุรกิจในด้านการเงิน การสร้างแบรนด์ การตลาด การประชาสัมพันธ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้แบรนด์ท้องถิ่นเติบโต และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 

นิวซีแลนด์ เน้นศิลปะกับความยั่งยืน 

นิวซีแลนด์มีตลาดแฟชั่นเสื้อผ้าที่หลากหลาย ตั้งแต่แบรนด์หรูที่มุ่งเน้นการออกแบบเชิงศิลปะ ไปจนถึงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ขนแกะเมอริโน (Merino Wool) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญและ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ 

ปัจจุบันผู้บริโภคมีความใส่ใจในกระแสความยั่งยืนและเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำต่าง ๆ ในนิวซีแลนด์ มีการปรับตัวเพื่อตอบรับกระแสความยั่งยืน เช่น แบรนด์ Icebreaker ร่วมมือกับ Upparel ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลสิ่งทอและเสื้อผ้า เพื่อสร้างเครือข่ายการรวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานแล้วและนำไปรีไซเคิล แบรนด์ Kowtow ใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิกในการผลิตเสื้อผ้าและย้อมสีผ้าด้วยกระบวนการที่ปลอดสารเคมี  

 

ที่มาข้อมูล : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

Thailand Web Stat