posttoday

“เผ่าภูมิ” มอบนโยบาย​ SME D Bank ทำงานเชิงรุก ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็ก

15 กุมภาพันธ์ 2568

เผ่าภูมิ โรจนสกุล มอบนโยบาย​ SME D Bank ทำงานเชิงรุก ขอให้จับมือ บสย.-EXIM Bank ลดความเสี่ยงปล่อยสินเชื่อ เพิ่มขีดความสามารถ ผลักดันเอสเอ็มอีเติบโต

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานถ่ายทอดนโยบายการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยในปี 2568 ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอี ขาดอยู่ 3 อย่างคือ 1.โอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนา 2.ตลาด หากไม่มีผู้ซื้อ หรือคนมาซื้อสินค้าจากเขา บทบาทของรัฐคือทำอย่างไรก็ได้ให้เอสเอ็มอีมีตลาดทั่วโลก 3.แหล่งทุน

เอสเอ็มอีเหมือนเด็กเพิ่งเกิด การให้เขาเข้าถึงแหล่งทุน และมีความต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เขาค่อย ๆ ฝึกเดิน

เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง บางธุรกิจที่เพิ่งเริ่ม ฝึกเดิน หากเข้าไม่ถึงสินเชื่อทางออกของเขาคือ ใช้เงินตนเอง หรือต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ ในสถาบันการเงิน หรือพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ

ทั้งนี้ SME D Bank มีบทบาทสำคัญในการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งเป็น​หนึ่ง​ใน​สถาบัน​การ​เงินของ​รัฐ​ เป้าหมายสำคัญคือต้องเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยไม่ได้แสวงหากำไร และช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคารพาณิชย์

 

ดังนั้น SME D Bank ควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงของธนาคาร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม​ที่ธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยสินเชื่อ​ เนื่องจาก​มองว่า​ มีความเสี่ยง​สูง​ ทำให้​ เอสเอ็มอีขาดโอกาสเข้า​ถึง​แหล่ง​เงินทุน 

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ได้ให้นโยบาย​แก่ SME D Bank ให้​ทำงานเชิงรุก ซึ่งไม่ได้หมายถึงการลงพื้นที่ แต่หมายถึงการเข้าหาลูกค้าแทนที่จะรอให้ผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งมาขอสินเชื่อด้วยตนเอง เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการ SME ที่อ่อนแอ และไม่รู้จักธนาคารอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ​ ซึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการที่อ่อนแอหมายถึงผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เขาต้องประเมินความเสี่ยงในการปล่อยเงินหรือสินเชื่อเนื่องจากเขาต้องประเมินผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้ถือหุ้น ฉะนั้นบทบาท SME D Bankต้องเข้าไปช้อนรับในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ทำไม่ได้

อย่างไรก็ตามการทำงาน​ SME D Bank เดินคนเดียวไม่ได้ จึงอยากให้ประสานความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เป็นกลไกในการค้ำประกันสินเชื่อ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างคนตัวเล็ก กับคนตัวใหญ่ที่ต้องการส่งออก เพื่อผลักดันธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต​จากที่มีตลาด​เฉพาะ​ในประเทศ​ก็สามารถ​ขยายสู่ตลาด​ต่าง​ประเทศ​ได้ พร้อมสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ปรับตัวทางธุรกิจให้อยู่รอด หากร่วมมือกันได้ก็จะเป็นประโยชน์

ไตรมาส2-3 ปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ 

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ก็จะมีออกมาเรื่อยๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน

ไตรมาส 2-3 ก็จะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสินเชื่ออื่นๆ ที่จะระบุอุตสาหกรรมชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดจะได้รับการสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมใดอ่อนแอ อุตสาหกรรมใดอยู่ระหว่างช่วงรอยต่อ เช่นอาจเป็นภาคบริการ ที่นักท่องเที่ยวอาจจะน้อยลงในไตรมาส 2-3 เพราะในช่วงนั้นเป็นโลว์ซีซั่น เพราะฉะนั้นการเติมเม็ดเงิน ไม่ว่าจะเงินหมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีการพิจารณา เรื่องของสินเชื่อก็เป็นการเติมเม็ดเงินในรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการช่วยคนละมิติ แต่เป็นเรื่องใส่เงินเข้าไปในระบบเหมือนกัน