วุฒิสภาปลดล็อกสุราชุมชน ทลายทุนผูกขาดเปิดทางผู้ผลิตรายย่อย
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ชี้มติวุฒิสภาอนุมัติแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปลดล็อกสุราชุมชน ให้ผลิตสุรามีสีมีกลิ่นได้ ยกเลิกข้อจำกัดการผลิตขั้นต่ำ เปิดโอกาสเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาดดัน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรณีวุฒิสภามีมติเห็นชอบ
การแก้ไข พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ในส่วนของ สุราชุมชน ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยคะแนนเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง เท่ากับเป็นการทลายกำแพงการผูกขาดของทุนขนานใหญ่ในวงการสุราสีในเมืองไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้
หลักใหญ่ใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการให้สุราชุมชนที่ผลิตจากสินค้าเกษตร มีสีมีกลิ่นได้ เท่ากับเป็นการทำลายทุนผูกขาดในสุราพิเศษ ไม่ต้องโดนบังคับให้ผลิตขั้นต่ำที่วันละ 30,000 ลิตร หรือรัมซึ่งนำไปผลิตสุราขาว ซึ่งถูกบังคับให้ผลิตขั้นต่ำ90,000 ลิตร
ทว่าที่สำคัญกว่าคือการจะต้องคงคุณภาพมาตรฐานสุราชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพสามิตและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสมอ. หลังร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย แตกต่างจากร่างสุราก้าวหน้าในอดีตของอดีตพรรคก้าวไกล ที่เปิดเสรีให้ผลิตสุราได้ทุกพื้นที่ แต่ไม่มีการดูแลมาตรฐานคุณภาพสุรา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับหลังการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ นายอรรถวิชช์ ระบุว่ายังไม่ได้มีการประเมินประมาณการของรายได้ เพราะเป็นครั้งแรกในไทยที่ออกกฎหมายยกเลิกผูกขาดให้ชุมชนสามารถผลิตสุราสีเข้ามาแข่งขันในตลาด แต่เป็นเรื่องที่น่าติดตามผลต่อไป
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ ประกอบด้วย
ผลิตสุราได้ทุกประเภท
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการรายย่อยถูกจำกัดให้ผลิตเฉพาะสุราพื้นบ้าน แต่หลังการแก้ไข สามารถผลิตสุราชนิดอื่น เช่น จิน, รัม, บรั่นดี, วิสกี้ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เบียร์บรรจุกระป๋องได้
จากเดิมที่ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขายเบียร์ได้เฉพาะแบบสด (Draft Beer) แต่ห้ามบรรจุลงกระป๋องหรือขวด ตอนนี้ สามารถบรรจุได้ทุกรูปแบบ ทำให้มีโอกาสแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
ยกเลิกข้อกำหนดปริมาณขั้นต่ำ
เดิมกำหนดให้โรงเบียร์ขนาดเล็กต้องผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็ก แต่จากนี้ไป ไม่มีข้อกำหนดขั้นต่ำ ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเริ่มต้นได้ตามกำลังการผลิตของตัวเอง
เปิดโอกาสให้เกษตรกรและธุรกิจท้องถิ่น
สามารถนำผลผลิตในชุมชน เช่น ข้าว, อ้อย, และผลไม้ มาแปรรูปเป็นสุรา เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
ส่งเสริม Soft Power ไทย สุราพื้นบ้านและสุราคราฟต์จากไทยสามารถเข้าสู่ตลาดสากล เช่นเดียวกับที่ สาเกของญี่ปุ่น และ โซจูของเกาหลี ประสบความสำเร็จ
กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
เพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค ทำให้สุราท้องถิ่นกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายของไทย