
ปลดล็อก "สุราชุมชน" ช่วยธุรกิจคนตัวเล็ก ชูอัตลักษณ์วัตถุดิบ GI
หลังจากวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้แก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในส่วนของ "สุราชุมชน" หรือกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการผลิตสุรา แอลกอฮอล์ ฉบับใหม่นี้ได้เปิดทางให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยลดการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ และขยายโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโต
สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้คือ การอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตสุราและเบียร์ได้ทุกประเภท จากเดิมที่มีกฎเกณฑ์จำกัด เช่น ห้ามผลิตสุราชนิดต่าง ๆ อย่างจิน รัม บรั่นดี หรือวิสกี้ และห้ามบรรจุเบียร์ลงกระป๋อง
รวมถึงข้อกำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่ 30,000 ลิตรต่อวัน แต่ภายใต้กฎหมายใหม่ ข้อจำกัดเหล่านี้ถูกยกเลิก ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแก้กฎหมายมาตรา 32 ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ ตราบใดที่ไม่มีเจตนาเพื่อการค้า ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าได้มากขึ้น แต่ยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ห้ามชักจูงให้ดื่มหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
แม้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสถานบันเทิงยามค่ำคืน แต่การดำเนินนโยบายเสรีนี้ยังต้องพิจารณาผลกระทบทางสังคมและสุขภาพของประชาชน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความยั่งยืนในระยะยาว
แล้วผู้ประกอบการ คนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมองเรื่องนี้อย่างไร โพสต์ทูเดย์ ได้รวบรวมความเห็นจากผู้ประกอบการ จากงาน DAMNEXPO 2025 ซึ่งเป็นงานที่รวมตัวคนทำธุรกิจกลางคืน
ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของแบรนด์สาโทเทพนม และนายกสมาคมคราฟต์เบียร์ กล่าวว่า กฎหมายสุราใหม่ที่กำลังพูดถึงนี้มีอยู่สองประเด็นหลัก คือ การผลิตและการโฆษณา
ในส่วนของการผลิต สืบเนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการสามารถผลิตเบียร์ สุราชุมชน และเหล้ากลั่นได้ แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย กฎหมายใหม่จะช่วยปลดล็อกอุปสรรคสำคัญ เช่น เดิมทีการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท จิน รัม วอดก้า หรือคราฟต์เบียร์ ในรูปแบบบรรจุขวดและกระป๋องไม่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้แล้ว
อีกประเด็นหนึ่งคือ ข้อจำกัดด้านการโฆษณา เดิมทีผู้ผลิต เมื่อผลิตแล้ว ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของตนได้อย่างเต็มที่ คำถามสำคัญที่ตามมาคือต่อไปนี้จะสื่อสารอย่างไรให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็จะเป็นการผ่อนปรนเรื่องนี้ให้เบาลง
ผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อาจเกิดโอเวอร์ซัพพลาย
ณัฐชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลดล็อกข้อจำกัดในฝั่งของผู้ผลิต ข้อดีอย่างหนึ่งคือ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในตลาด เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เมื่อมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ส่วนผสมต่าง ๆ บรรจุภัณฑ์ ขวดต่าง ๆ ราคาก็จะลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงตามไปด้วย ในทางทฤษฎี ราคาจำหน่ายจึงควรถูกลง ส่งผลให้การแข่งขันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของ ภาคการผลิต (ไม่นับรวมร้านค้า) อาจเกิดภาวะ โอเวอร์ซัพพลาย ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เคยเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกัน เมื่อ 20-30 ปีก่อนที่กฎหมายยังไม่เปิดเสรีให้ทำคราฟต์เบียร์ได้
แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย โรงผลิตสาเกจำนวนมากในญี่ปุ่น รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ต่างก็หันมาทำคราฟต์เบียร์พร้อมกันกว่า 1,000 ราย แต่สุดท้ายเหลือรอดไม่ถึง 100 ราย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่จะให้รอดอย่างไร มองว่าคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้มองว่าการผลิตระดับภูมิปัญญาชาวบ้าน กับ การผลิตเชิงอุตสาหกรรม อาจมีความแตกต่างกัน บางรายอาจเร่งผลิตโดยขาดการเรียนรู้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านคุณภาพ หากเปิดเสรีพร้อมกันทั้งคราฟต์เบียร์และสุราชุมชน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
ปัจจัยที่น่ากังวลคือ สังคมจะมอมเมา กันหมดรึเปล่า ? ผู้ประกอบการจะตอบคำถามสังคมอย่างไร?
ณัฐชัย มองว่า การปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้คนดื่มเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มตัวเลือกมากขึ้น เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคบางวันอาจเลือกไวน์ อีกวันเลือกเบียร์ ไม่ใช่ว่าประเทศมีการเปิดเสรีแล้วจำนวนร้านจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่ได้
ขณะที่ นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ กรรมการบริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า สุราชุมชนกับวัฒนธรรมการบริโภค ปัจจุบันแอลกอฮออล์ เริ่มถูกจับคู่กับอาหารไทยมากขึ้น อาจกลายเป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งไทยจะมีสุราชุมชนอยู่บนโต๊ะอาหาร เหมือนกับไวน์ต่างชาติที่เป็นตัวเลือกหลักดื่มคู่กับเมนูอาหาร แต่แทนที่เราจะนำเข้าจากต่างประเทศ ทำไมไม่ใช้สุราชุมชนแบรนด์ไทยแทน
แอลกอฮอล์ที่ผลิตจาก ชุมชนอาจกลายเป็นของฝากสำคัญของไทย?
ผู้ประกอบการทั้งสอง ยังกล่าวด้วยว่า แนวคิด "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" เป็นวาทกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ในความเป็นจริง คนไทยดื่มแอลกอฮอล์มานานแล้ว ต่างประเทศเองก็มีวัฒนธรรมให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของฝาก
ดังนั้น สุราชุมชนหากมองในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สามารถเป็นของฝากที่มีเอกลักษณ์ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีวัตถุดิบ GI (Geographical Indication) ที่แตกต่างกัน เช่น ข้าว น้ำตาล อ้อย สมุนไพร และดอกไม้ ซึ่งสร้างเรื่องราวเฉพาะตัวให้กับเครื่องดื่มจากแต่ละจังหวัด
Local Heritage คือทางรอดของธุรกิจไทย
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ ต่อ เพนกวิน ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้เราปฏิเสธการเข้ามาของธุรกิจต่างประเทศไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะทำให้ธุรกิจไทยอยู่รอดคือ การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ที่ผ่านมา เราพยายามลอกโมเดลต่างชาติ เช่น ร้านอาหารเชนฟาสต์ฟู้ด หรือร้านกาแฟสไตล์ตะวันตก แต่กลับไม่เคยให้ความสำคัญกับรากเหง้าของตัวเอง
สุราชุมชนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะแต่ละพื้นที่มี วัตถุดิบ GI ที่แตกต่างกัน วัตถุดิบเหล่านี้สะท้อน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งในฐานะคนทำร้านอาหาร ผมหวังว่าตลาดสุราชุมชนไทยจะเติบโตควบคู่ไปกับตลาดร้านอาหาร และสร้างอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่งในระดับสากล
ผลคือ มาเก็ตแชร์จะกระจายตัวเพิ่มขึ้น คนจะหันไปหาสินค้าที่พรีเมียม มีเรื่องราว และมีความยั่งยืน เฉพาะแบบกันมากขึ้น จนในอนาคตสุราชุมชนอาจพัฒนาไปเป็นของดี ของฝากประจำพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ประเทศไทยมีโพเทเนเชียลที่จะคว้าโอกาสนี้ จากการที่เป็นเมืองร้อน มีความหลากหลายของชีวภาพสูง ทำให้มีวัตถุดิบ GI มารังสรรได้มากมาย หรือวันนึงสุราชุมชนอาจกลายเป็น SoftPower ที่แข่งขันกับประเทศทั่วโลกได้