”ธรรมนูญครอบครัว“ กุญแจหนุนธุรกิจครอบครัว โตมั่นคงรุ่นสู่รุ่น
4 เสาหลักองค์กรธุรกิจ ร่วมยกระดับธุรกิจครอบครัวไทย เสริมศักยภาพ SME สร้างแนวทางบริหารจัดการ พร้อมผลักดัน “ธรรมนูญครอบครัวแห่งชาติ” รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงได้ริเริ่มโครงการ Family Business Thailand โดยความร่วมมือจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจครอบครัวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผ่านการสนับสนุนในหลายมิติ อาทิ การอบรมสัมมนา การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และกรณีศึกษาธุรกิจต้นแบบ การจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อลดความขัดแย้ง และการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน สถาบันการศึกษาและวิจัย เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบริหารธุรกิจครอบครัว
รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจครอบครัว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจครอบครัวมักมีปัญหาในการส่งต่อ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) คิดเป็น 71.23%
ทว่าในทางปฏิบัติ ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักมีปัญหาการส่งต่อธุรกิจ โดยมีสาเหตุที่สำคัญจากความไม่เข้าใจของสมาชิกในครอบครัวที่มีช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap) กันอยู่มาก
ฉะนั้น การมีกลไกหรือวิธีการจัดการ นั่นก็คือการสร้าง “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งการจัดตั้ง “สภาครอบครัว” เพื่อเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาก็จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์จากธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ ใช้เป็นกรณีศึกษาได้
อีกทั้งยังจะสามารถต่อยอดสู่เป้าหมายของการพัฒนา “ธรรมนูญแห่งชาติ” ในอนาคตสำหรับธุรกิจครอบครัวในระดับมหภาคอีกด้วย
คนรุ่นใหญ่ ฟังคนรุ่นใหม่
ในทางปฏิบัติ “คนรุ่นใหญ่” ในธุรกิจครอบครัวเองก็ต้องรับฟัง “คนรุ่นใหม่” ด้วยความเข้าใจ อีกทั้งทำหน้าที่ต้องให้แง่คิด มุมมองต่างๆ ที่ดี มิใช่การสั่งเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยประคับประคองและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น และจะส่งผลให้การสืบทอดหรือการส่งต่อธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น
เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น องค์กรธุรกิจ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักเหล่านี้จึงย่อมจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว และทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับทุกครอบครัวได้ดำเนินธุรกิจให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตลาดทุนฯ มีหลักสูตร บริหารจัดการภายใน
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจครอบครัวจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ Family Business Thailand ซึ่งมีแนวทางการสนับสนุนในหลายมิติ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารและการวางแผนสืบทอดกิจการ การให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและโครงสร้างธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวและเศรษฐกิจไทยนั้น
ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนา LiVE Platform ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเข้าถึงหลักสูตรเฉพาะด้าน อาทิ การบริหารจัดการภายใน การปรับโครงสร้างธุรกิจ การวางแผนมรดก และการสร้างกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
และในวาระครบรอบ 50 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยเพื่อสนับสนุนให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจัดทำงานวิจัย ที่เชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวกับตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย
โดยคาดว่า กลางปี 2568 จะมีผลงานวิจัยที่ช่วยเสริมสร้างแนวทางการพัฒนาให้ธุรกิจครอบครัวไทยเติบโตอย่างมั่นคง ภายใต้ปณิธานของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งมั่นร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวไทยก้าวสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
ม.หอการค้า ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกยุคทุกสมัย ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยการกำหนดนโยบายของภาครัฐ หากแต่ยังต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากภาคธุรกิจ
ซึ่งในบริบทของประเทศไทยก็เช่นเดียวกับนานาประเทศ ธุรกิจครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการวางรากฐานอย่างมั่นคงและดำเนินกิจการสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการผลิตองค์ความรู้ งานวิจัย และกรณีศึกษาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ
โอกาสนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและให้การสนับสนุนส่งเสริม ภาคธุรกิจ สภาหอการค้าไทย มีเครือข่ายสมาชิกกว่า 200,000 ราย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการผลิตองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ
และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีธุรกิจครอบครัวจดทะเบียนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งสี่หน่วยงานจะผนึกกำลังความร่วมมือช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจครอบครัวไทยในทุกระดับ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่
อีกทั้งจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนและสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายของการสร้าง “ธรรมนูญครอบครัวแห่งชาติ" ให้กับธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคตอีกด้วย