
จากนักแข่งเรือใบ ผันตัวสร้างธุรกิจร้านกาแฟ "Skipper Garden"
จากชีวิตที่เคยโลดแล่นอยู่กลางทะเล แข่งกับสายลมและเกลียวคลื่น อดีตนักกีฬาเรือใบทีมชาติ “ปฏิญญากร บุราณรมย์” ตัดสินใจหวนคืนบ้านเกิดจังหวัดร้อยเอ็ด ทิ้งชีวิตนักกีฬามาเริ่มต้นใหม่กับคาเฟ่เล็ก ๆ ท่ามกลางป่าในจังหวัดร้อยเอ็ด
ปฏิญญากร หรือ กิ่ง เคยเป็นกัปตันเรือ DaVinci ก่อนตัดสินใจลาออกเพื่อไล่ตามความฝันในการเป็นนักแข่งเรือใบมืออาชีพ เขาเริ่มต้นด้วยการซื้อเรือลำแรกและก้าวขึ้นเป็นกัปตันทีมเรือใบแสนสิริ นำทีมลงแข่งขันในรายการ Regatta ระดับนานาชาติ และสร้างชื่อเสียงด้วยความสำเร็จที่โดดเด่น
หนึ่งในความภาคภูมิใจของเขาคือการสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการเรือใบไทย ด้วยการคว้าแชมป์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงรายการ Transpac 2013 ซึ่งเป็นการแข่งขันสุดโหดที่มีเรือจากทั่วโลกกว่า 59 ลำเข้าร่วม เส้นทางการแข่งขันครอบคลุมระยะทาง 4,100 กิโลเมตร บนมหาสมุทรแปซิฟิก ใช้เวลามากกว่า 12 วัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันท้าทาย
ปฏิญญากร บุราณรมย์
ด้วยความหลงใหลในกีฬาเรือใบ เขาและพรรคพวกจึงร่วมกันก่อตั้ง Thai Yacht Club เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้คนไทยในภูเก็ต พัทยา และกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสสัมผัสและเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบมากขึ้น
ผ่านประสบการณ์ในสนามแข่งทั้งความกดดันและชัยชนะ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เขาตัดสินใจวางมือจากอาชีพนี้ หลังทำมายาวนานมากกว่า 10 ปี และกลับมายังบ้านเกิดในจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว
“ผมกลับมาร้อยเอ็ด เพราะว่าผมแต่งงาน”
เขาเล่าถึงเหตุผลการหวนกลับบ้านเกิด และเล่าต่อว่า แรงบันดาลใจทำให้เขาเปิดธุรกิจร้านกาแฟ ส่วนหนึ่งมาจากเมื่อครั้งที่เขาทำงานเป็นกัปตันเรือ เจ้าของบ้านเช่าที่ภูเก็ต เป็นเจ้าของไร่กาแฟ ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงโอกาสธุรกิจกาแฟ
เขามีความสนใจ แต่คหากจะย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เพื่อมุ่งหน้าเอาดีด้านนี้ ก็ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากต้องห่างภรรยา เขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ร้อยเอ็ด เปิดธุรกิจร้านกาแฟ
“แต่ธุรกิจร้านกาแฟมีการแข่งขันสูง และอายุสั้น ไม่ใช่เปิดมาแล้วจะสำเร็จ สิ่งสำคัญคือไอเดีย”
ปฏิญญากร เล่าต่อว่า ไอเดียที่เขาคิดไว้คือการทำให้ร้านกาแฟมีจุดเด่น และด้วยความชอบต้นไม้ ชอบความเป็นธรรมชาติ จึงเลือกสิ่งเหล่านั้นมาเป็นจุดเด่นให้กับธุรกิจของตนเอง
เปลี่ยนที่ดินรกร้างให้มีชีวิตใหม่
เขามองเห็นผืนดินรกร้างที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตรงถนนวงแหวนรอบใน ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากลูกหลานเจ้าของที่ดิน เดินทางไปหางานทำในเมืองหลวง พร้อมป้ายประกาศให้เช่า
จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงที่ดินแห่งนี้ให้กลายเป็นสวนต้นไม้ที่ดูดีขึ้น แต่มากกว่านั้น เขาต้องการให้ผู้คนได้สัมผัสกับความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ สูดกลิ่นดินและหญ้า จึงเลือกพื้นที่แห่งนี้เปิดร้านกาแฟ ที่เต็มไปด้วยร่มเงาของต้นไม้และแนวคิดการอนุรักษ์ป่า
ต้นไม้บางชนิดเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการรดน้ำหรือใส่ปุ๋ย แสดงถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาเอง
เขาเริ่มสร้างคาเฟ่ขึ้นมาเองกับมือ ด้วยคอนเส็ปต์ใช้ไม้เก่า และใช้วัสดุที่มีให้เกิดประโยชน์ ความคุ้มค่าที่สุด บนพื้นที่ 4 ไร่
“โจทย์คือ ทำให้ออกมาดีที่สุดแต่ใช้เงินน้อยที่สุด โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ผมสนใจธรรมชาติและเริ่มศึกษางานไม้จริงจัง จนพบว่า บ้านเรือนในภาคอีสานส่วนใหญ่มีรูปแบบคล้ายกัน คือเป็นบ้านสองชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ แทบทุกหมู่บ้านล้วนมีโครงสร้างแบบนี้
เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าของบ้านหลายรายเริ่มรื้อถอนบ้านไม้เก่าเพื่อสร้างบ้านสมัยใหม่ บางแห่งถึงกับมีอาชีพรับรื้อบ้าน นำไม้เก่ามาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างเรือนไทยใหม่ คาดว่าวิสาหกิจชุมชนลักษณะนี้มีอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยรายในจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ผมเองก็อาศัยช่องทางนี้ รับซื้อไม้เก่าเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจร้านกาแฟของตัวเอง
เขาบอกอีกว่า เม็ดเงินที่ใช้ลงทุนเริ่มที่ 1.5 ล้านบาท ในจำนวนนี้เขาใช้จ่ายไปกับการ ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ นอกเหนือจากไม้ ก็มีเคาเตอร์ เครื่องทำเครื่องดื่ม
ในส่วนของโครงสร้างร้านก็อาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่เรียนจบมาออกแบบเอง ร่วมกับทีมก่อสร้างในท้องถิ่น
"ในอดีต การสร้างบ้านไม่จำเป็นต้องมีช่างหรือวิศวกร คนในชุมชนช่วยกันลงแรง ตัดไม้จากหัวไร่ปลายนา มีอุปกรณ์ก็สร้างบ้านและวัดวาอารามได้"
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเรียบง่ายและความร่วมมือ เรียกว่าธุรกิจนี้เขาสร้างมันกับมือ
หลังจากใช้เวลาหลายเดือนในการก่อสร้าง เขาบอกอีกว่า ไม่เคยโปรโมทในช่องทางใด แค่บอกผ่านเฟซบุ๊กว่า "เปิดแล้ว" ลูกค้าที่มา ล้วนแต่เป็นการบอกต่อกันเอง บางคนขับรถผ่านไปยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่านี่คือร้านกาแฟ แต่เราก็เชื่อมั่นในคุณค่าของสิ่งที่ทำ
ผมสอนพนักงานเสมอว่า "แค่ทำให้ดีที่สุด ลูกค้าจะมาหาเราเอง" ผ่านมา 7 ปี ทุกอย่างเติบโตแบบออร์แกนิก ลูกค้าหลักของเราคือคนในพื้นที่ แม้ว่าหลังๆ จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวบ้าง แต่เราไม่อิงกับกระแสการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญคือการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งรายได้ก็ยังอยู่ที่หลักแสน
ร้านกาแฟที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ
เมนูเครื่องดื่มของเราถูกออกแบบให้หลากหลาย กาแฟคิดเป็นเพียง 40% ส่วนที่เหลือคือเครื่องดื่มอื่นๆ เพราะผมเชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอาจไม่ได้ต้องการแค่กาแฟ เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับทุกเพศทุกวัย รองรับทั้งคนในท้องถิ่นและผู้มาเยือน
ปัจจุบัน ร้านกาแฟไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับดื่มกาแฟเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พบปะ พูดคุย ทำงาน เรียนพิเศษ หรือแม้แต่นั่งรอใครสักคน
ผมจึงให้ความสำคัญกับเมนูที่ไม่ใช่กาแฟ เช่น มะพร้าวน้ำส้ม หรือเครื่องดื่มจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่สามารถเติมเต็มบรรยากาศแห่งความผ่อนคลายได้ไม่แพ้กาแฟ
ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจ ตั้งเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด สคิปเปอร์ กรุ๊ป พร้อมกับวางเป้าหมายไว้ว่าจะขยายให้ได้อีก 5 สาขาในจังหวัดร้อยเอ็ด ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และกำลังช่างน้ำหนักระหว่างการเช่าที่ดินกับการซื้อที่ดิน เนื่องจากว่า การซื้อมีโอกาสในการที่จะปรับแต่งพื้นที่ได้มากกว่า
ขณะที่การเช่าก็มีข้อจำกัดซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลายช่องทาง แต่การขยายมีหลายไซส์ หลักๆ คอนเส็ปยังอิงอยู่กับธรรมชาติ วางเป้าให้โตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ธุรกิจที่ยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัว
ผมไม่ได้มองว่าธุรกิจนี้จะต้องเติบโตก้าวกระโดด แต่อยากนับตั้งแต่วันแรกที่สร้างขึ้นมา แม้ในช่วงโควิดเราก็อยู่รอด รายได้สามแสนต่อเดือน เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน มันพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเรามีไอเดียและความมุ่งมั่น เราสามารถสร้างงานที่ไหนก็ได้
ผมไม่ยึดติดว่าต้องเป็นร้านกาแฟเสมอไป อนาคตอาจทำโฮมสคูล เปิดร้านอาหาร หรือแม้แต่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพราะภรรยาของผมเป็นแพทย์ เราต่างเชื่อว่าการออกแบบธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
ค่อยๆ เติบโต ดั่งต้นไม้ใหญ่
ปฏิญญากร ยังแชร์แนวคิดการทำธุรกิจด้วยว่า เขาไม่ได้สนใจการเติบโตแบบหวือหวา แต่อยากให้ร้านค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึก แม้พายุจะพัดมา กิ่งอาจหักบ้าง แต่ลำต้นยังคงยืนหยัดและเรียนรู้ที่จะเติบโตต่อไป
"และหากวันหนึ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ผมอาจกลับไปแข่งเรือใบอีกก็ได้ "
ร้อยเอ็ดทุกวันนี้เต็มไปด้วยคาเฟ่ เปลี่ยนไปคล้ายกับนิมมาน เชียงใหม่ แต่ผมเชื่อว่าคาเฟ่ที่ดีไม่จำเป็นต้องแพง
"ผมค่อนข้างเปิดใจ ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ไม่ต้องสั่งเครื่องดื่มอะไร ก็สามารถมานั่งพักผ่อนได้ เพราะที่สุดแล้ว ความเอื้อเฟื้อคือสิ่งที่ทำให้ชุมชนแข็งแกร่ง" เขากล่าวทิ้งท้าย