posttoday

รู้จัก 6 ธุรกิจสุดฮอตในอดีต จากยุครุ่งเรืองสู่วันเลือนหาย

06 เมษายน 2568

รู้จัก 6 ธุรกิจสุดฮอตในอดีต เคยทำเงิน สร้างสีสันให้สังคมไทย แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม บางธุรกิจค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

ในโลกธุรกิจที่หมุนเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยเป็น “ดาวรุ่ง” อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำในวันถัดไป ด้วยกระแสสังคม เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง 

 

สำหรับธุรกิจสุดฮอตในอดีต ที่เคยรุ่งเรืองแต่วันนี้แทบไม่มีให้เห็น มาร่วมย้อนเวลาไปสำรวจพร้อมกันว่า เคยมีธุรกิจไหนบ้างที่เคยปังในอดีต 

 

ร้านขายเทปคาสเซ็ทท์

 

ครั้งหนึ่งในยุคที่ยังไม่มี Spotify หรือ YouTube เสียงเพลงที่ดังจากเครื่องเล่นในบ้านมักจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า “เทปคาสเซ็ทท์” 

 

ร้านขายเทปคาสเซ็ทท์ คือธุรกิจที่จำหน่ายเทปคาสเซ็ทท์ ซึ่งเป็นสื่อบันทึกเสียงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงราวๆ ทศวรรษ 1970 - 1990 (พ.ศ.2513-2533)

 

ร้านเหล่านี้เป็นแหล่งรวมเทปเพลงหลากหลายประเภท ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล รวมถึงเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทท์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น หูฟัง เทปเปล่า และน้ำยาทำความสะอาดหัวเทป

 

ในยุครุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นที่ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในสยาม สะพานเหล็ก หรือตลาดนัดต่างจังหวัด ก็มักจะมีร้านขายเทปเรียงรายให้เลือกฟังเลือกซื้อกันแบบจุใจ

 

ค่ายเพลงไทยชื่อดังต่างแข่งกันออกอัลบั้มใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะเทปขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อัลบั้มหนึ่งสามารถขายได้หลักแสนถึงล้านตลับ เป็นยุคที่เสียงเพลงสร้างรายได้มหาศาล และเปลี่ยนชีวิตศิลปินหลายคนให้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

 

แต่แล้ว วันหนึ่ง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป…

 

หลังปี 2545 เป็นต้นมา การมาของ CD ตามด้วย MP3 และแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง YouTube ทำให้คนฟังเพลงเปลี่ยนพฤติกรรม เทปคาสเซ็ทท์กลายเป็นสิ่งล้าสมัย ร้านเทปปิดตัวลงทีละร้าน

 

ค่ายเพลงเองก็ทยอยเลิกผลิตเทป เพราะต้นทุนไม่คุ้ม และผู้ฟังหันไปเสพความสะดวกสบายจากดิจิทัลที่คลิกเดียวก็ได้ฟังทุกเพลง

 

เทปคาสเซ็ทท์เงียบหายไปจากชั้นวางร้านค้าราว 10 ปี…

 

แต่แล้วในช่วงหลังปี 2563 ความทรงจำก็เริ่มกลับมาใหม่ เทปคาสเซ็ทท์กลายเป็นของสะสม เป็นของวินเทจที่มีคุณค่าทางใจ ร้านเฉพาะทางกลายเป็นแหล่งรวมของนักฟังเพลงและนักสะสม

 

แม้วันนี้เทปคาสเซ็ทท์จะไม่ได้อยู่ในแถวหน้าของวงการเพลงอีกต่อไป แต่ก็ยังไม่จากไปไหน ยังมีผู้คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่รัก และหวงแหนมันอย่างเหนียวแน่น เป็นตลาดเฉพาะทางที่กำลังเติบโตในหมู่คนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานที่โหยหาเสียงเพลงในแบบที่เคยเป็น

 

ร้านเช่าวิดีโอ (ร้านเช่าหนัง)

 

เช่นเดียวกับร้านเช่าวิดีโอ หรือที่เรียกกันว่าร้านเช่าหนัง คือธุรกิจที่ให้บริการเช่าภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ในรูปแบบสื่อบันทึกต่างๆ เช่น วิดีโอเทป (VHS), ดีวีดี (DVD) และบลูเรย์ (Blu-ray) ให้ลูกค้าเช่าไปรับชมที่บ้านในช่วงเวลาที่กำหนด 

 

ความนิยมของสื่อบันทึกข้อมูลแบบแผ่นลดลง เช่น วิดีโอเทป ดีวีดี และบลูเรย์ เนื่องจากผู้คนหันไปใช้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์และดาวน์โหลดหนังออนไลน์มากขึ้น

 

ธุรกิจตั้งแผงมือถือให้ยืมโทรรายนาที

 

Isan insight รายงานว่า ธุรกิจตั้งแผงมือถือให้ยืมโทรรายนาที เป็นธุรกิจที่เคยได้รับความนิยมในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่โทรศัพท์มือถือยังมีราคาแพงและไม่ได้แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน 

 

ผู้ประกอบการจะตั้งแผงหรือโต๊ะเล็ก ๆ ตามสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดสด สถานีขนส่ง หรือริมถนน มีโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องให้ลูกค้าเช่าใช้ โดยคิดค่าบริการเป็นรายนาที ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นผู้ที่ต้องการโทรศัพท์ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น โทรศัพท์ติดต่อธุระด่วน หรือผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว

 

สาเหตุที่ธุรกิจนี้ลดลง คือผู้คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่นที่สามารถโทรติดต่อกันได้ฟรี หรือมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

 

ธุรกิจหนังกลางแปลง และหนังขายยา

 

ก่อนจะมี Netflix หรือโรงหนังหรูในห้าง เคยมี “หนังกลางแปลง” ที่เป็นเหมือนมหรสพประจำหมู่บ้าน

 

แค่ผืนผ้าขาวใบใหญ่ ลำโพงเสียงแตก ๆ กับเครื่องฉายที่ต้องมีคนเฝ้าคอยเปลี่ยนม้วนฟิล์ม ก็พอแล้ว ผู้คนจะออกมาปูเสื่อนั่งดูหนังกันใต้แสงดาว เสียงหัวเราะ เสียงเชียร์ บรรยากาศคึกคักแบบไม่ต้องจ่ายค่าตั๋ว

 

ยุคทองของหนังกลางแปลง อยู่ราวปี พ.ศ. 2521–2535 หนังเหล่านี้ไม่ได้ฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่ไปตามงานวัด งานบุญ งานบวช หรืองานศพก็มี

 

เจ้าภาพไหนจ้างหนังหลายเจ้า ถือว่า “บารมีแรง ฐานะดี” เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันหน้าจอ คนขายน้ำ ขายลูกโป่ง ขนมสายไหม ก็เร่เข้ามาเกาะกลุ่มกัน หนังกลางแปลงไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง แต่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

 

เป็นที่นัดพบของวัยรุ่น และบางครั้งอาจกลายเป็นที่เริ่มต้นของความรักด้วยซ้ำ…

 

แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาดิสรัปต์เมื่อวิดีโอเทปเริ่มแพร่หลาย คนดูหนังจากบ้านได้ง่ายขึ้น ดิสรัปต์รอบสอง โรงภาพยนตร์เริ่มผุดขึ้นมาในห้าง

 

ก่อนโควิด ธุรกิจโรงหนังเคยมีรายได้รวมทะลุ 16,000 ล้านบาท แต่ทว่าดิสรัปต์รอบสามก็มาพร้อมยุคสตรีมมิ่ง Netflix, Disney+, YouTube, VIU ใคร ๆ ก็มีโรงหนังส่วนตัวแค่ปลายนิ้ว หนังกลางแปลงจึงค่อย ๆ เลือนหาย เหลือเพียงแค่ความทรงจำ แม้จะยังหาดูได้บ้างตามต่างจังหวัด และมีกรุงเทพกลางแปลง ที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่

 

ส่วนหนังขายยา ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน แต่รูปแบบมีเนื้อหาที่เน้นไปที่การรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ มีการอวดอ้างสรรพคุณของยา

 

หมอลำขอข้าว

 

จากข้อมูล Isan insight ระบุว่า “หมอลำขอข้าว” เป็นคำที่ใช้เรียกคณะหมอลำขนาดเล็กที่ตระเวนแสดงตามหมู่บ้านในภาคอีสาน โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติพิเศษคือ เมื่อแสดงเสร็จ รุ่งเช้าของวันถัดไป กลุ่มนักแสดงจะทำการตระเวน “ขอข้าว” จากชาวบ้านเพื่อเป็นการตอบแทนการแสดง

 

หมอลำขอข้าวปัจจุบัน ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคม เหลือเพียงแค่ธุรกิจหมอลำ ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ เป็นธุรกิจและวัฒนธรรมที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วและสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปีละหลายพันล้านบาทในอุตสาหกรรมนี้

 

ข้อมูลจากโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0

สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า หากพิจารณาธุรกิจหมอลำตามการลงทุนและการจ้างงาน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดใหญ่ราคาจ้างงาน 240,000-300,000 บาท ขนาดกลางราคาค่าจ้าง 200,000-240,000 บาท และขนาดเล็กราคาค่าจ้าง 150,000-200,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ต้องเดินทางไปจัดการแสดง

 

หมาแลกคุ

 

“ธุรกิจหมาแลกคุถัง” หมายถึง การค้าสุนัขในอดีตที่พ่อค้าจะขับรถเร่ไปตามหมู่บ้านในแถบภาคอีสานของประเทศไทย เพื่อแลกสุนัขกับสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ถังน้ำพลาสติก (คุถัง) กะละมัง หรือสิ่งของอื่น ๆ

 

พ่อค้าจะขับรถตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อแลกสุนัขกับสิ่งของ เมื่อได้สุนัขจำนวนหนึ่งแล้ว จะนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อไปจำหน่าย ปลายทางส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม

 

แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้สร้างความสะเทือนใจให้กับคนรักสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ

 

ปัจจุบันการค้าสุนัขได้ถูกต่อต้านและมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดการกระทำดังกล่าว

 

 

ที่มา : ข้อมูล Isan insight , โครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน