คนเกาหลีใต้ชื่นชอบมะม่วงไทย ผลไม้หน้าร้อน ยอดส่งออก 2.9 พันล้าน
คนเกาหลีใต้ชื่นชอบมะม่วงไทย ผลไม้ประจำหน้าร้อน ยอดส่งออกแตะ 2.9 พันล้าน ขึ้นแท่นตลาดเบอร์หนึ่งของไทย KPOP - อินฟลูฯ -ยูทูบเบอร์มีส่วนดันกระแส “FOMO”
“ข้าวเหนียวมะม่วง” หนึ่งในเมนูขนมหวานประจำฤดูร้อนที่ครองใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ได้เป็นเพียงของหวานที่ช่วยคลายร้อน หากแต่ยังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ ในฐานะ Soft Power ที่ทรงอิทธิพลในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยผ่านมิติด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการทูตวัฒนธรรม ด้วยรสชาติเป็นเอกลักษณ์ การเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นคุณภาพสูง
โดยสายพันธ์ยอดนิยมที่นำมากินคู่กับข้าวเหนียวมูน ได้แก่ มะม่วงอกร่อง และมะม่วงน้ำดอกไม้ ฯลฯ
ซึ่งนอกจาก ข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว เมนูเครื่องดื่มขนมหวานอื่น ๆ ที่มาจากมะม่วงยังฮอตฮิตไม่แพ้กันทั้งเมนูเครื่องดื่มสมูทตี้ ไอศกรีม ตามเห็นได้จากแบรนด์ต่าง ๆ อย่าง เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต (Le Cordon Bleu Dusit): สถาบันสอนทำอาหารชื่อดังในประเทศไทย ได้พัฒนาเมนู "ทาร์ตข้าวเหนียวมะม่วง" ที่ผสมผสานขนมหวานแบบตะวันตกกับรสชาติไทย โดยใช้แป้งทาร์ตกรอบอร่อย ร่วมกับข้าวเหนียวมะม่วงที่เป็นที่นิยม
สตาร์บัคส์ (Starbucks) เคยนำเสนอ "มาการองข้าวเหนียวมะม่วง" ซึ่งเป็นการผสมผสานขนมฝรั่งเศสกับรสชาติของข้าวเหนียวมะม่วงไทย ทำให้เกิดขนมหวานที่มีเอกลักษณ์ ทั้งยังมีเมนู Mango Sticky rice Cremem Frappuccino
ร้านขนมหวานต่าง ๆ มีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ เช่น "พาร์เฟต์ข้าวเหนียวมะม่วง" ที่นำข้าวเหนียวมูนมาจัดเป็นชั้น ๆ กับไอศกรีมและมะม่วงสุก หรือ "ข้าวเหนียวมะม่วงโรล" ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากซูชิ โดยห่อข้าวเหนียวมูนด้วยแผ่นมะม่วงฝานบาง ๆ แล้วตัดเป็นชิ้นพอดีคำหรือแม้แต่แบรนด์ NoseTea ที่ทำ "ชาข้าวเหนียวมะม่วง"
5 อันดับตลาดส่งออกมะม่วง
มาดูความนิยมของมะม่วงไทย ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยข้อมูลยอดส่งออกมะม่วงไทย ปี 2567 มีมูลค่ารวม 4,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.68% โดยตลาดส่งออกมะม่วง 5 อันดับแรก ได้แก่
- เกาหลีใต้ 2,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.7% สัดส่วน 62.2% ของมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย
- มาเลเซีย 1,191 ล้านบาท ลดลง 12.8% สัดส่วน 25.3%
- ญี่ปุ่น 139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% สัดส่วน 3.0%
- เวียดนาม 131 ล้านบาท ลดลง 15.7% สัดส่วน 2.8%
- สปป.ลาว 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3% สัดส่วน 0.8%
ทำไมเกาหลีใต้นิยมมะม่วงไทย ?
สาเหตุเกาหลีใต้ได้ก้าวขึ้นมาอันดับที่ 1 ตลาดส่งออกมะม่วงสดของไทย แซงหน้ามาเลเซีย กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ขยายปริมาณโควตานำเข้าผลไม้เขตร้อน และลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดปัญหาขาดแคลนสินค้าในประเทศ
โดยปรับอัตราภาษีมะม่วงและมังคุดเหลือ 0% จากเดิม 30% และทุเรียนเหลือ 5% จากเดิม 45% ส่งผลให้มะม่วงไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น
นอกจากนี้ มะม่วงไทยเป็นที่ต้องการในเกาหลีใต้มาจากกระแส Soft Power ของไทย โดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วง ที่ได้รับความนิยมจากสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่นิยมรับประทานผลไม้สดหลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตในเกาหลี เช่น E-Mart และ Lotte Mart Homeplus โปรโมตมะม่วงไทยผ่านเทศกาลผลไม้ไทยทุกปี มีการจัดกิจกรรมให้ชิมข้าวเหนียวมะม่วงฟรี และสาธิตวิธีหั่นมะม่วง และอื่น ๆ
KPOP - อินฟลู ดันกระแส “FOMO”
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งคาดมาจากกระแสโซเชียล และ K-pop ไอดอลเกาหลีหลายคนกินข้าวเหนียวมะม่วงบนไลฟ์สด เช่น ลิซ่า BLACKPINK , BIBI, วอนยอง IVE, เจโฮป BTS ที่มีอิทธิพลสูงมาก รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์สายกิน และยูทูบเบอร์เกาหลีทำคอนเทนต์ลองกินข้าวเหนียวมะม่วง จนเกิดกระแส FOMO (Fear of Missing Out) หรือกลัวตกเทรนด์ ตกกระแส อยู่ช่วงหนึ่ง
ความร่วมมือไทย-เกาหลี
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้อนุญาตนำเข้าผลไม้จากไทยได้เพียง 6 ชนิด คือ มะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย มะพร้าว และสับปะรด แต่ชาวเกาหลีใต้มีการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทยเป็นอย่างดีผ่านสื่อโซเชียลและนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาไทย
โดยเฉพาะมะม่วง มังคุด และทุเรียน ผลไม้ไทยได้รับการยอมรับจากชาวเกาหลีใต้ว่าเป็นสินค้าพรีเมียมคุณภาพสูง หากไทยสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพ และความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ได้ต่อเนื่อง ก็จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้มากขึ้น
ที่มาข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์