ภาษีทรัมป์ กระทบ SME อาหารเครื่องดื่ม ฉุดส่งออก แรงงานเสี่ยงตกงาน
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ชี้ภาษีทรัมป์กระทบ SME- สตาร์ทอัพไทย ฉุดส่งออก-แรงงานตกงาน เสนอรัฐใช้วาทะศิลป์ เจรจาต่อรอง หวั่นสูญเสียตลาดให้คู่แข่งในเอเชีย
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแหงประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ภายใต้หัวข้อ “The Great Trade War : กลยุทธ์ ไทยสู้ศึกสงครามการค้าโลก” ที่จัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ โพสต์ทูเดย์ ว่า
ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นมูลค่ากว่า 1.65 ล้านล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปสหรัฐราว 1.6 แสนล้าน คิดเป็น 10% ซึ่งถือว่าสัดส่วนไม่ได้มากนัก และมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าจากไทย 36% ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มผู้ผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ โดยผู้ผลิตรายกลางและรายเล็กส่งออกอาหารที่เป็นโปรดักส์เฉพาะ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารไทย ซึ่งเริ่มเห็นการชะลอสั่งออเดอร์แล้ว จะส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคเกษตรและประมงให้ต้องตกงาน
ไม่เพียงเท่านั้น บางรายส่งออกไปยังอเมริกา มากกว่า 30% เช่น น้ำมะพร้าว เครื่องดื่มเฮลท์ ฟิวเจอร์ฟู้ด สิ่งที่เกิดขึ้นคือในไตรมาสนี้การผลิตแทบจะหยุดชะงัก และปัจจุบันห้างสรรพสินค้าใหญ่ในสหรัฐยื่นข้อเสนอให้ไทยลดราคาสินค้านำเข้า 36% เพราะต้องการจำกัดราคาสินค้า ซึ่งแน่นอนทุกคนต่างรู้ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเดิมทีกำไรที่ได้เฉลี่ยเพียง 5% เท่านั้น ฉะนั้นสินค้าจะแพงขึ้นอย่างแน่นอน
นายเจริญ กล่าวต่อว่า ไทยจะต้องมีวาทะศิลป์ในการไปเจรจากับสหรัฐ และรัฐบาลจะต้องต่อรองให้เร็ว โดยทีมเจรจาต้องเรียกให้นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐให้ช่วยเจรจาด้วย โดยใช้มืออาชีพหรือล็อบบี้ยิสต์เข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทไทยไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ที่ลงทุนในสหรัฐ
"แผนที่จะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐมากขึ้นอย่างเดียวอาจไม่พอที่จะใช้ต่อรองได้ เพราะไทยเกินดุลสหรัฐอยู่อีกมากและไม่สามารถเพิ่มดุลการค้าได้ทันที รัฐบาลจะต้องคิดเผื่อว่าจะมีแพ็คเกจอะไรเพื่อใช้เจรจาเพิ่ม เพราะยิ่งรอนาน แรงงานไทยจะยิ่งได้รับผลกระทบ"
กังวลคู่แข่งแย่งตลาด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่ากังวลหากคู่แข่งทางตรงอย่างเวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย หากเจรจาได้ภาษีที่ต่ำกว่า ไทยจะถูกแย่งตลาดในทันที โดยเฉพาะเวียดนามที่ส่งออกสินค้าใกล้เคียงกันมาก
ขณะที่เรื่องสินค้าจากจีนสวมสิทธิ์เพื่อส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมอาหารนั้นไม่ง่าย จึงไม่กังวลมากนัก เพราะจะต้องลงทุนเปิดโรงงานในประเทศไทย และอีกอย่างหนึ่งคือไทยมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะการแปรรูปเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 7 ข้อ ได้แก่
- สนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจ
- ปฏิรูปกฎหมายที่ซ้ำซ้อน
- ปฏิรูปเรื่องภาษีที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งต้องมีการชดเชยให้ผู้ผลิตภายในประเทศ
- เร่งการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป (EU) และแคนาดา
- เจรจากับกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ยุโรปและออสเตรเลีย ในการเป็นแนวร่วมการค้า
- ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SME และสตาร์ตอัพ ที่ได้รับผลกระทบ
- เจรจาให้เร็ว โดยให้มืออาชีพและผู้มีประสบการณ์เข้ามาช่วย และตัดสินใจเร็ว
ภาษีทรัมป์ครั้งนี้จะกระทบหนักมาก แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ถ้าลากยาวผู้ประกอบการรายเล็กจะค่อยๆ ล้มลง”
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งผู้เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง และในอุตสาหกรรมแปรรูปที่ยังพึ่งพาแรงงานสูง เครื่องจักรทดแทนไม่ได้ทั้งหมด