ส่งออกอัญมณีไทย สหรัฐฯ เก็บภาษีโหด บางรายการสูง 49.5% SME หาทางรอด

11 เมษายน 2568

ผู้ส่งออกอัญมณีไทย เจอสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่ว เครื่องประดับแท้เจอหนักสุด 49.5% สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ ชี้ต้องปรับกลยุทธ์ ขยายตลาดประเทศอื่น

แม้ว่าสหรัฐฯ ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน สำหรับประเทศที่แสดงความประสงค์เจรจาปรับสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังคงสร้างความร้อน ๆ หนาว ๆ ให้กับหลาย ๆ ประเทศไม่น้อย โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เตรียมหารือเชิงลึกกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายปี 2567 

 

ทั้งนี้ จากรายการสินค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบ พบว่า “อัญมณีและเครื่องประดับ” เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่เผชิญกับมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ที่ประกาศใช้โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รายงานว่า อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยประกอบด้วย 

 

 

18 รายการรับแรงกระแทกขึ้นภาษี

 

  1. ไข่มุก อัตราอากรเดิม 0% อัตราอากรใหม่ 36% 
  2. เพชร อัตราเดิม 0% อัตราใหม่ 36% 
  3. พลอยสี อัตราเดิม 0-10.5% อัตราใหม่ 36-46.5% 
  4. อัญมณีสงเคราะห์ อัตราเดิม 0-6.4% อัตราใหม่ 36-42.4% 
  5. ฝุ่นและผงของรัตนชาติและกึ่งรัตนชาติ อัตราอากรเดิม 0% อัตราอากรใหม่ 36% 
  6. โลหะเงิน อัตราอากรเดิม 0-3% อัตราใหม่ 0-39% 
  7. โลหะสามัญที่หุ้มติดด้วยเงิน อัตราอากรเดิม 3.2% อัตราอากรใหม่ 39.3% 
  8. ทองคำ อัตราอากรเดิม 0-4.1% อัตราอากรใหม่ 0-40.1% 
  9. โลหะสามัญที่หุ้มติดด้วยทองคำ อัตราอากรเดิม 6% อัตราอากรใหม่ 42% 
  10. โลหะแพลตตินั่ม  อัตราอากรเดิม  0% อัตราอากรใหม่ 0% 
  11. โลหะสามัญเงินหรือทองคำที่หุ้มติดด้วยแพลตตินั่ม อัตราอากรเดิม 10% อัตราอากรใหม่ 46%  
  12. เศษและของใช้ ที่ใช้ไม่ได้อื่นๆ ที่มีโลหะมีค่าหรือโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่าอัตราเดิม 0% อัตราใหม่ 0-36% 
  13. เครื่องประดับแท้ อัตราอากรเดิม 5-13.5% อัตราใหม่ 41-49.5% 
  14. เครื่องทองหรือเครื่องเงินและส่วนประกอบของดังกล่าว อัตราเดิม 2.7-7.9% อัตราใหม่ 38.7-43.9% 
  15. ของอื่นๆที่ทำด้วยโลหะมีค่าหรือโลหะที่หุ้มด้วยโลหะมีค่า อัตราเดิม 0-4% อัตราใหม่ 36-40%  
  16. ของทำด้วยไข่มุกรัตนชาติและกึ่งรัตนชาติ  อัตราอากรเดิม 0-10.5% อัตราใหม่ 36-46.5% 
  17. เครื่องประดับเทียม อัตราอากรเดิม 0-11% อัตราใหม่ 36-47% 
  18. เหรียญกษาปณ์  อัตราอากรเดิม  0% อัตราใหม่ศูนย์ถึง 36%


ทั้งนี้ ในหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ โลหะเงินที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป โลหะแพลทินัม เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ ทำด้วยแพลทินัม และเหรียญกษาปณ์ 
 

 

 

สถาบันฯ ระบุอีกว่า แคนาดา และเม็กซิโกถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% - 38.5% ส่วนจีน ถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 27.5% - 125% 


เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ จากข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่าในปี 2567 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 1,973.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลัก 3 อันดับแรก คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน     

 

1.เครื่องประดับทอง

ผู้ส่งออกเครื่องประดับทองไปยังสหรัฐฯ ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย (19.02%) สวิตเซอร์แลนด์ (13.64%) ฮ่องกง (11.75%) อิตาลี (7.07%) และจีน (6.61%)

 

ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกในอันดับ 7 มีสัดส่วน 4.98% ไทยถูกเรียกเก็บภาษีเครื่องประดับทองสูงสุด 41.8% ส่วนอินเดีย เสียภาษีนำเข้า 31.8% สวิตเซอร์แลนด์ 36.8% ฮ่องกง 109.8% อิตาลี 25.8% จีน 117.3% 

 

จะเห็นได้ว่า ไทยเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าอินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี

 

2. เครื่องประดับเงิน

ผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังสหรัฐฯ ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย (29.60%) อินเดีย (17.21%) อิตาลี (12.71%) จีน (10.92%) และฮ่องกง (7.39%)

 

ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 41%-49.5% อินเดียเสียภาษีนำเข้า 31%-39.5% อิตาลี 25%-33.5% จีน 116.5%-125% และฮ่องกง 109%-117.5%

 

จะเห็นได้ว่าไทยเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าอินเดีย และอิตาลี

 

3. พลอยเนื้อแข็งเจียระไน

 

ผู้ส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไนไปยังสหรัฐฯ ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง (28.16%) ไทย (19%) สวิตเซอร์แลนด์ (15.10%) ฝรั่งเศส (8.09%) และโคลอมเบีย (5.64%)

 

ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ฮ่องกงเสียภาษีในอัตรา 104% สวิตเซอร์แลนด์ 31% ฝรั่งเศส 20% และโคลอมเบีย 0% (มี FTA กับสหรัฐฯ)

 

จะเห็นได้ว่าไทยเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และโคลอมเบีย

 

4. พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

 

ผู้ส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนไปยังสหรัฐฯ ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย (19.81%) ฮ่องกง (16.99%) อิสราเอล (16.87%) อินเดีย (10.41%) และเยอรมนี (9.28%)

 

ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36%-46.5% ฮ่องกงเสียภาษีนำเข้า 104%-114.5% อิสราเอล 17% อินเดีย 26%-36.5% เยอรมนี 10%-20.5%

 

จะเห็นได้ว่าไทยเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าอิสราเอล อินเดีย และเยอรมนี ผลกระทบต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

 

สถาบันฯ ระบุอีกว่า การขึ้นภาษี ทำให้ราคาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนำเข้าไปยังสหรัฐฯ แพงขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่เจออัตราภาษีต่ำกว่าหรือมีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจหันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่า หรือเลือกสินค้าทดแทน เช่น เครื่องประดับสังเคราะห์ (synthetic jewelry) และเลือกสินค้าที่ผลิตในประเทศแทน 

 

ดังนั้น สินค้าหลักของไทยทั้งพลอยสีและเครื่องประดับแท้จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจทำให้ยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ลดลง และเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่า

 

ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนตลาด เน้นเจาะตลาดกลุ่มบน 

 

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป (ที่ไทยกำลังเจรจา FTA กับ EU คาดเสร็จปี 2568) หรือเอเชีย (จีน อินเดีย ญี่ปุ่น) และตะวันออกกลาง ซึ่งมีความต้องการอัญมณีคุณภาพสูงจากไทยอยู่แล้ว โดยเน้นเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มบน 

 

ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีไทยมีจุดแข็งเรื่องฝีมือการเจียระไนและดีไซน์ ถ้าปรับตัวไปเน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (high-value niche) เช่น เครื่องประดับที่ออกแบบพิเศษหรืออัญมณีที่รับรองแหล่งที่มา (ethical sourcing) อาจรักษากำไรได้แม้ปริมาณส่งออกลดลง หรือร่วมมือกับภาครัฐในการเจรจาผ่อนปรนมาตรการกับสหรัฐฯ ในอนาคต 
       

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับสหรัฐฯ หากสำเร็จ อัญมณีและเครื่องประดับอาจได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนบางส่วน เพราะไม่ใช่สินค้าที่สหรัฐฯ ผลิตเองแข่งกับไทยโดยตรง ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
       

สรุปแล้วสินค้าอัญมณีของไทยจะเจอผลกระทบหลักๆ คือ ต้นทุนสูงขึ้นและยอดขายในสหรัฐฯ ลดลง แต่ด้วยจุดแข็งของไทยในด้านคุณภาพและฝีมือ ยังมีโอกาสปรับตัวได้ 
       

 

Thailand Web Stat