MED Drive เร่งสปีดธุรกิจเครื่องมือแพทย์ไทย สู่เป้ายอดขายพันล้าน
อว.ปลุกเครื่องยนต์ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ไทยผ่าน MED Drive ดันสู่เวทีโลก ปั้นแบรนด์ไทยสู่แชมเปี้ยน แตะเป้ายอดขายพันล้านด้วยนวัตกรรม
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน มีมูลค่าตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในด้านมาตรฐานระดับสากลที่สูง ต้องใช้เงินลงทุนสูง และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโครงการ MED Drive ขึ้น โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งก้าวเดินธุรกิจ และพัฒนาให้เครื่องมือแพทย์ไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก
โครงการสะท้อนถึงความตั้งใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ด้วยการเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบในระบบนิเวศของการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยให้เดินหน้าไปด้วยกัน
โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะก้าวสู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) สามารถขยายธุรกิจให้มียอดขายสู่ 1,000 ล้านบาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงและต่อยอดความสำเร็จที่จะช่วยยกระดับสินค้านวัตกรรม เพิ่ม GDP และขีดความสามารถของประเทศ
รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รักษาการรองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. ได้สนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการ MED Drive ภายใต้แผนงาน “พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDEs)” ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ไทยทั้ง 5 รายให้พัฒนาสู่องค์กรฐานนวัตกรรม
เป้าหมายหลักคือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ไทยที่ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ และสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย โดยการดำเนินการประกอบด้วย การวินิจฉัยประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อวิเคราะห์โอกาสและช่องว่างของธุรกิจ
การสนับสนุนการยกระดับธุรกิจและผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการวิเคราะห์ทดสอบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรม การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ตลอดจนยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางด้านเครื่องมือแพทย์ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานและการบำรุงรักษา การให้ความรู้ด้านการจดสิทธิบัตร เป็นต้น
ทั้งนี้ 5 ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย
- บริษัท โพสเฮลท์แคร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลและกลุ่ม Personal Use
- บริษัท โนวาเมดิค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไหมเย็บแผล แผ่นปิดแผลต่างๆ และถุงทวารเทียม
- บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุศัลยกรรมกระดูกและเครื่องมือผ่าตัดกระดูก
- บริษัท ซี วี พี เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เข้มข้นสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (น้ำยาไตเทียม) และสายส่งเลือดสำหรับเครื่องไตเทียม
- บริษัท ซี.ซี.ออโตพาร์ท จำกัด ผู้ผลิตขึ้นรูปโลหะให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องมือแพทย์ทางด้านทันตกรรม