สตาร์ทอัพไทย ติดหล่ม จากนวัตกรรมสู่ SME ตกอันดับบนเวทีโลก

17 เมษายน 2568

สตาร์ทอัพไทยกำลังถอยหลังจากเวทีนวัตกรรม สู่ SME เหตุขาดทุนสนับสนุน-ไร้เครือข่ายสากล ขณะที่ระบบนิเวศที่เคยคึกคักกลับซบเซาหลังโควิด

นายวาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สตาร์ทอัพของประเทศไทยกำลังเติบโตน้อยลง และกำลังผันตัวเป็นผู้ประกอบการ SME มากขึ้น

เนื่องจากการเกิดขึ้นใหม่ของสตาร์ทอัพไทยไม่ได้คิดจากนวัตกรรม หรือ ดีพเทค แต่ยังคงเป็นเพียงการเปิดบริการรูปแบบของแอปพลิเคชันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิมอยู่แล้ว เพื่อให้บริการในประเทศ ไม่ได้คิดเพื่อบุกตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงขาดจุดดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุน 

ล่าสุดข้อมูลจาก Startup Genome พบว่า ประเทศไทยถูกลดอันดับระบบนิเวศด้านสตาร์ทอัพจากอันดับที่ 52 เป็น 54 ต่ำกว่าเวียดนาม ขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ขึ้นอันดับอย่างต่อเนื่อง

สตาร์ทอัพไทย ติดหล่ม จากนวัตกรรมสู่ SME ตกอันดับบนเวทีโลก

ปัจจุบันภาพรวมของนักลงทุนเริ่มโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่มีรายได้หรือกำไรแล้ว ส่งผลให้กลุ่ม Early Stage Startup ซึ่งยังไม่มีรายได้ชัดเจน ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย ขณะที่การเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมไม่ได้เข้าถึงง่าย เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญคือระบบนิเวศสนับสนุน (Ecosystem) ที่เคยคึกคักในยุคก่อนโควิด เช่น โปรแกรมบ่มเพาะ เร่งการเติบโต และการแข่งขันเชิงนวัตกรรม ต่างหยุดชะงักหายไป โดยเพิ่งเริ่มกลับมาในช่วงหลังจากที่สถานการณ์โลกเริ่มคลี่คลาย 

สตาร์ทอัพไทย ติดหล่ม จากนวัตกรรมสู่ SME ตกอันดับบนเวทีโลก วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดีป้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหากฎระเบียบที่ล้าหลัง สำหรับสตาร์ทอัพด้วย อาทิเช่น ประเด็นการถือหุ้นต่างชาติ การเปิดให้ใช้แพลตฟอร์มด้านเทเลเมดิซีนในช่วงโควิด ซึ่งในตอนแรกไม่สามารถทำได้เพราะผิดกฎหมาย เป็นต้น 

การเข้าถึงแหล่งทุน การขาดที่ปรึกษาเชิงลึก เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ คืออุปสรรคที่ขวางสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยขาดโอกาสในการเติบโตและทดลองจริงในประเทศ การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้นโอกาสของไทยคือ การพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่ เช่น Venture Building ที่เชื่อมโยงผู้มีไอเดียธุรกิจกับผู้มีทักษะเทคโนโลยี การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งจากความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากทุกภาคส่วนทำงานส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ 

เขาย้ำว่า สตาร์ทอัพไทยจะไม่เพียงช่วยยกระดับเศรษฐกิจ แต่จะสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีให้กับประเทศในระยะยาว และอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ หากประเทศไทยกำจัดอุปสรรคดังกล่าว

สำหรับการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในปีนี้ของดีป้า จะเป็นรูปแบบการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพดีพเทคหน้าใหม่ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ในตลาดสตาร์ทอัพไม่มีหน้าใหม่เกิดขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ดีป้าให้ทุน 1 ล้านบาท กับ 5 ล้านบาท ก็จะเพิ่มเติมการให้ทุนสตาร์ทอัพหน้าใหม่ทุนละ 200,000 บาท จำนวน 200 ทุน 

แต่ต้องเป็นการเสนอแผนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ กูเกิล หัวเว่ย และ เอดับบลิวเอส เป็นต้น รวมถึงต้องมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทด้านการเงิน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ ดีป้า และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ด้วย ตั้งเป้าสำเร็จจนสร้างธุรกิจใหม่เข้าระบบ 10 % เพื่อต่อยอดรับทุนจากดีป้าระดับ 1 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทต่อไปได้อีก

Thailand Web Stat