จากตำรวจ สู่นักเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สร้างรายได้ปีละร้อยล้าน

จากตำรวจ สู่นักเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สร้างรายได้ปีละร้อยล้าน

18 เมษายน 2568

จาก “ตำรวจ” สู่ “นักเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช” พลิกชีวิตด้วยต้นกล้า สร้างรายได้หลักร้อยล้าน ส่งออกสู่ 13 ประเทศ เตรียมขายโรงงานเพาะเนื้อเยื่อ 4000 ตรม.

KEY

POINTS

  • “อนุวัช อินปลัด” จากอดีตตำรวจ หารายได้เสริมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขาย สู่เจ้าของธุรกิจสร้างรา

เมื่อรายได้จากอาชีพข้าราชการตำรวจไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว “อนุวัช อินปลัด” จึงตัดสินใจเริ่มหารายได้เสริม ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อจำหน่ายให้ร้านขายต้นไม้และเกษตรกร โดยไม่รู้เลยว่า งานอดิเรกเล็ก ๆ นี้จะกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้หลักล้าน และขยายตลาดส่งออกไปกว่า 13 ประเทศ จนเขาได้รับฉายาว่า “ตำรวจเนื้อเยื่อ”

 

เริ่มจากศูนย์

 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน อนุวัชคลุกคลีอยู่กับการทำเกษตร เคยทดลองลงทุนเพาะเห็ดถั่งเช่า แต่ตลาดตอนนั้นยังเงียบ ผลจึงไม่เป็นไปตามคาด และเขาต้องหยุดกิจการลงแบบเงียบ ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของเขาไม่เคยหมดไป กระทั่งวันหนึ่ง เขาพบว่าราคากล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติพร้อมกับข่าวว่าต้นพันธุ์กล้วยกำลังขาดตลาด เขาจึงพยายามหาต้นพันธุ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ขอไปถึง 3,000 ต้น แต่ได้มาเพียง 5 ต้นเท่านั้น 

 

“ผมสงสัยว่าทำไมมันถึงขาดตลาด ก็เลยศึกษาจริงจัง ไปลองเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยไม่มีความรู้อะไรใด ๆ ควบคู่กับภรรยา ‘สาวิตรี อินปลัด’ เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐาน”
 

เมื่อมีความรู้ เขาก็เริ่มทดลองเพาะพันธุ์เอง ผ่านการลองผิดลองถูกอยู่ราว 2 ปี เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์กล้วยไปขาย และต่อยอดหาความรู้ใหม่ ๆ  จนได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เรียนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและวิธีดูแลต้นไม้เพื่อนำไปเพาะเลี้ยง 

 

จากนั้นเริ่มขยายจากกล้วยมาสู่ไม้ประดับ 5-6 สายพันธุ์ พร้อมทั้งทดลองผสมสารเคมีที่เป็นอาหาร เพาะเชื้อเอง และค่อย ๆ ขยายพืชที่เพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

“จำได้ว่า ตอนแรกเริ่มต้นใช้เงินลงทุน 30,000 บาท พอเพาะเนื้อเยื่อขาย ก็เริ่มมีรายได้เข้ามา รายได้ครั้งแรกผมได้หลักหมื่น เพิ่มเป็นเดือนละ 2 แสนบาท โดยมีลูกค้าหลักเป็นร้านขายต้นไม้และเกษตรกรที่ทำสวนกล้วย ปลูกกล้วย” 

 

ขณะนั้นจีนเริ่มเข้ามาลงทุนปลูกกล้วยในลาว เขาจึงสามารถส่งสินค้าผ่านตัวแทนไปจำหน่ายได้ด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นทำให้เขามีช่องทางส่งออกเนื้อเยื่อไปยังต่างประเทศได้
 

จากตำรวจ สู่นักเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สร้างรายได้ปีละร้อยล้าน

พร้อมกับจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต ชวนลูกหลานในวิสาหกิจเข้ามาร่วมงาน 

 

อนุวัชมองว่า ธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีศักยภาพในการต่อยอดมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้า พืชเศรษฐกิจ สมุนไพร ไปจนถึงเครื่องสำอาง และอาหารเสริม หลายอาชีพอย่างครู ทหาร ตำรวจ ก็เข้าร่วมธุรกิจนี้ โดยรับต้นกล้าไปจำหน่ายต่อทางออนไลน์ บางรายมีรายได้สูงถึงหลักแสนบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังจ้างงานชาวบ้านในห้องแล็บ รวมกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างการกระจายรายได้อย่างแท้จริง

 

“พนักงานเราก็เป็นคนในชุมชน ฝึกจนชำนาญ จนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เก่งยิ่งกว่านักวิจัยบางคนเสียอีก”

 

 

ปัจจุบันเขาสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชได้กว่า 190 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดับ และขยายไปสู่ไม้เกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และกล้วยอีก 10 สายพันธุ์

 

เมื่อธุรกิจเริ่มมั่นคง เขาก่อตั้งบริษัท ไทยทิชชูเคาเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และขยายตลาดส่งออกไปยัง 13 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ

 

โดยต่างชาติให้ความสนใจไม้ประดับเป็นหลัก ขณะที่เกาหลีสนใจกล้วยเพื่อนำไปตกแต่งแทนต้นไม้

 

จากจุดเริ่มต้นเมื่อสิบปีก่อน ที่มีรายได้เพียงเดือนละ 20,000 บาท ปัจจุบันเขาสร้างรายได้ต่อปีมากถึง 130 ล้านบาท

 

จากตำรวจ สู่นักเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สร้างรายได้ปีละร้อยล้าน

ขยายโรงงานผลิต 4,000 ตารางเมตร

 

อนุวัชกล่าวว่า จากข้อมูลตลาดชี้ว่า ธุรกิจไม้เนื้อเยื่อมีมูลค่าการซื้อขายราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี เขามองว่าแนวโน้มนี้สอดรับกับกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรง โดยเชื่อว่าในปี 2030 ราคาต้นไม้จะสูงขึ้นมาก

 

ปัจจุบันตลาดซื้อขายต้นไม้ทั่วโลกมีมูลค่ารวม 3 แสนล้านเหรียญ ในขณะที่ตลาดเนื้อเยื่ออยู่ที่ประมาณ 500 ล้านเหรียญ และคาดว่าปีหน้า มูลค่าจะพุ่งแตะระดับ 1,500 ล้านเหรียญ

 

สำหรับประเทศไทย ตลาดเริ่มเติบโตขึ้น 2% แม้จะยังไม่รุ่ง แต่คาดว่าในปีหน้าจะขยายตัวถึง 15% และภายในปี 2030 ตลาดเนื้อเยื่อทั่วโลกจะเติบโตถึง 50% เพราะในปีนั้น ธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ในขณะที่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการส่งเสริม

 

การส่งออกต้นไม้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเนื้อเยื่อสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือนถึง 1 ปี และมีน้ำหนักเบา ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกพืชยังไม่มีข้อจำกัดมากนัก หากเป็นไม้เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าและอาจส่งผลกระทบกับประเทศจะจำกัดให้อยู่ในประเทศ แต่ส่วนใหญ่พืชที่ส่งออกเป็นไม้ประดับ จึงไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม

 

อีกทั้งธุรกิจเนื้อเยื่อไม่ใช่การทำลายทรัพยากร แต่คือการสร้างทรัพยากรใหม่อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่ต้องการผลผลิตที่ดีต้องใช้พันธุ์ที่มีคุณภาพ เพราะหากใช้พันธุ์ไม่ดี โรคจะระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงมองว่าแนวโน้มเกษตรกรจะหันมาให้ความสำคัญกับเนื้อเยื่อแทนการเพาะพันธุ์เอง

 

“ตอนนี้เรามองว่าเราจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 20-50 เท่า เราจะขยายการผลิต โรงงานผลิตเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นจาก 300 กว่าตารางเมตรขยายเป็น 4,000 ตารางเมตร เพราะผมมองเรื่องของสินค้าเกษตรด้วย ดังนั้นผมจึงมองอนาคตว่า ด้วยความที่โรคพืชมันเยอะขึ้น เกษตรกรจะหันมาทำพันธุ์ที่มีคุณภาพ ผมจึงอยากทำมันสำปะหลังเพื่อที่จะขายเกษตรกรในราคาที่จับต้องได้ คาดว่าในอนาคตจะสามารถผลิตมันสำปะหลังได้ปีละประมาณ 100 ล้านต้น”

 

ทำธุรกิจต้องมี “ใจรัก” ถึงจะไปต่อได้

 

การทำธุรกิจสมัยนี้ ผมมองว่ายากมาก เนื่องจากเทรนด์ หรือความต้องการลูกค้าเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าจับเทรนด์ลูกค้าไม่ได้ ธุรกิจจะไปยาก เดินต่อไม่ได้ จนต้องปิดกิจการ ถ้าจะทำธุรกิจต้องทำสิ่งที่ตนเองรักอย่าไปทำตามกระแส เพราะถ้ากระแสหายไปก็อาจจะล้มไปด้วย ดังนั้นหลายอย่างต้องทำด้วยความรัก เพราะถ้าเจอปัญหาเชื่อว่าเราจะสู้กับมันต่อ


เขาย้ำว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ความเป็นไปได้ และมองเห็นโอกาสในระยะยาว พร้อมทำธุรกิจด้วยความรัก

 

เรื่องราวของอนุวัช อินปลัด ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอาชีพ แต่คือการเปลี่ยนวิธีคิด กล้าลอง กล้าเปลี่ยน และกล้าพัฒนา จากการมองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้าม

 

 

Thailand Web Stat