ส่องรายได้ 5 ปีย้อนหลัง Foodpanda พบขาดทุนสะสมกว่าหมื่นล้าน
ส่องผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลังของ Foodpanda หลังประกาศยุติให้บริการในไทย พบขาดทุนสะสมกว่าหมื่นล้านบาท สิ้นสุดเส้นทาง 12 ปี
ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) หนึ่งในแอปพลิเคชันสั่งอาหารรายใหญ่ในประเทศไทย ได้ประกาศยุติการให้บริการในประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 โดยให้เหตุผลว่า “สภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท”
https://www.posttoday.com/smart-sme/722912
การถอนตัวครั้งนี้นับเป็นการสิ้นสุดเส้นทางกว่า 12 ปีของฟู้ดแพนด้าในประเทศไทย หลังเริ่มเข้ามาทำตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 โดยเริ่มต้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนขยายบริการครอบคลุมครบทั้ง 77 จังหวัดภายในปี 2563 กลายเป็นผู้ให้บริการเดลิเวอรี่รายแรก ๆ ที่ให้บริการทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
จุดกำเนิดจากเยอรมนี สู่การเติบโตในเอเชีย
ฟู้ดแพนด้า ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ที่ประเทศเยอรมนี โดยเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ Rocket Internet บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก ผู้ก่อตั้งประกอบด้วย Ralf Wenzel, Benjamin Bauer และ Rohit Chadda
โมเดลธุรกิจของฟู้ดแพนด้าเริ่มจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จับคู่ระหว่างผู้บริโภคกับร้านอาหาร พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน และขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังหลายประเทศในเอเชียและละตินอเมริกา
ในปี 2015 บริษัทได้เข้าซื้อกิจการแอปเดลิเวอรี่อื่นๆ หลายแห่งเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด ก่อนจะถูกควบรวมกิจการโดย Delivery Hero SE จากเยอรมนีในปี 2016 ซึ่งเป็นเจ้าของฟู้ดแพนด้าในปัจจุบัน
ธุรกิจในไทย รายได้โต แต่ขาดทุนสะสมหนัก
สำหรับในประเทศไทย บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานฟู้ดแพนด้าในไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท โดยมีกรรมการบริษัท ได้แก่ นายจอห์น ฝาง, นายโทมัส มอริส วอง โมสเนอร์ และนายมูฮัมหมัด อามาน
แม้รายได้ของฟู้ดแพนด้าจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ขาดทุนสะสมอย่างหนัก โดยผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี มีรายละเอียดดังนี้:
- ปี 2562 รายได้ 818,156,828.37 ขาดทุน 1,264,503,583.82
- ปี 2563 รายได้ 4,375,128,919 ขาดทุน 3,595,901,657
- ปี 2564 รายได้ 6,786,566,010 ขาดทุน 4,721,599,978
- ปี 2565 รายได้ 3,628,053,048 ขาดทุน 3,255,107,979
- ปี 2566 รายได้ 3,843,303,372 ขาดทุน 522,486,848
รวมแล้ว ฟู้ดแพนด้าประสบภาวะขาดทุนสะสมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดไทยในที่สุด