posttoday

เนสท์เล่ ยอมรับปมขัดแย้งกระทบเกษตรกร ยึดคำตัดสินศาลอนุญาโตฯ

24 เมษายน 2568

เนสท์เล่ยอมรับข้อขัดแย้งกับมหากิจศิริ ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟนับพันราย

KEY

POINTS

  • เนสท์เล่ ยอมรับข้อขัดแย้งกับ 'มหากิจศิริ' กระทบทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟนับพันราย
  • ยืนยันต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล
  • ด้านเกษตรกรแสดงความกังวล หากไม่มีผู้รับซื้อผลผลิต อาจต้องรวมกลุ่มกันหาช่องทางส่งออกเอง 

 

จากมหากาพย์ “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 และได้ยุติสัญญากันในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เนื่องจากผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ได้ จนทำให้เกิดการฟ้องร้องกันนั้น

 

ตัวแทนบริษัทเนสท์เล่ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า ทุกถ้อยแถลงของเนสท์เล่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง พิสูจน์ได้ และมีหลักฐานชัดเจน พร้อมย้ำว่า หากข้อมูลใดไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ บริษัทจะไม่เปิดเผยออกสู่สาธารณะอย่างเด็ดขาด

 

กรณีข้อพิพาทดังกล่าว สืบเนื่องจากสัญญาธุรกิจระหว่างเนสท์เล่และ QCP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่มีการถือหุ้นคนละครึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยก่อนหน้านั้นทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาเรื่องการต่ออายุสัญญา แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ 
 

ตัวแทนเนสท์เล่ กล่าวว่า การเจรจามีบางข้อที่เห็นไม่ตรงกัน ซึ่งก็มีหลาย ๆ ประเด็น พร้อมทั้งมีการเสนอออปชันเพื่อทำงานด้วยกันได้ ก็ตกลงไม่ได้สักออปชัน และเมื่อทุกอย่างไม่ลงตัว จึงนำไปสู่การยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการสากลเพื่อขอให้วินิจฉัยสิทธิในการยกเลิกสัญญา ซึ่งการขึ้นศาลดังกล่าว เป็นข้อกำหนดที่อยู่ในสัญญา และคู่กรณีได้สืบพยาน ไปศาลมาโดยตลอด 

 

เมื่อศาลอนุญาโตตุลาการสากลมีคำตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่า เนสท์เล่มีสิทธิยกเลิกสัญญาอย่างถูกต้องตามข้อตกลง ทำให้การยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย 

 

เมื่อมีคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล ฝั่ง “มหากิจศิริ” จึงร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม “เนสท์เล่”​ ผลิต จ้างผลิต นำเข้า และจำหน่าย “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีก โชห่วย ร้านรถเข็นขายกาแฟ เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาเนสกาแฟในชีวิตประจำวัน 

 

จากข้อมูลที่เนสท์เล่ยื่นต่อศาลทรัพย์สินฯ ได้ระบุค่าเสียหายรวมประมาณ 70 ล้านบาท ต่อวัน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

 

จึงร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ต่อมาศาลฯ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ทำให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ

 

จ้างบริษัทไทยผลิต - และนำเข้าจากเพื่อนบ้านชั่วคราว

 

ซึ่งในเมื่อ QCP ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเนสกาแฟไม่สามารถผลิตได้หลังยุติสัญญา จึงทำให้เนสท์เล่ต้องมองหาทางเลือกชั่วคราว เพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาต่อลูกค้าว่า “ยังไงก็ต้องมีสินค้าส่งให้ลูกค้า” 

 

โดยแบ่งเป็นสองแนวทางคือ การใช้บริษัทผู้ผลิตในประเทศ (OEM) และนำเข้าบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการหาแหล่งผลิตใหม่เป็นการถาวร ทั้งเนสกาแฟปรุงสำเร็จ เนสกาแฟทรีอินวัน และเนสกาแฟพร้อมดื่ม จากฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน 

 

บริษัทผู้ผลิตมีดังนี้ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เบญจพันธ์พงศ์ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ เวียดนาม จำกัด ประเทศเวียดนาม บริษัท เนสท์เล่ แมนนิวเฟคเชอริ่ง (มาเลเซีย) เอชดีเอ็น บีเอชดี ประเทศมาเลเซีย และบริษัท โตโย ไซกัน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

 

“สัดส่วนการนำเข้าอาจจะมากกว่าการผลิตในไทย เนื่องจากบริษัท OEM กำลังการผลิตไม่เพียงพอ"

 

ประเด็นดังกล่าว นำมาสู่คำถามที่ว่า เนสท์เล่ จะไม่ผลิตในไทยแล้ว?

 

ตัวแทนเนสท์เล่ ยืนยันว่า ยังยึดมั่นการผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เพียงแต่ช่วงนี้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าไปก่อน เพราะอย่างที่บอกว่า เนสท์เล่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในไทย ซึ่งมีเกษตรกรที่สนับสนุนมากกว่า 1,000 ราย พร้อมระบุว่า ในช่วงต้นปี 2568 บริษัทซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าในประเทศ 50% หรือกว่าครึ่งของผลผลิตโรบัสตาในประเทศ 

 

โดยแหล่งปลูกหลัก ๆ มาจากจังหวัดชุมพร จากข้อมูลพบว่าชุมพรเป็นแหล่งผลิตกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าอันดับ 1 ในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 57,729 ไร่ และมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรวม 2,074 ครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนเพาะกล้าของกาแฟอีกจำนวนมาก พร้อมทั้งเล็งขยายการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ


ขอให้มองต่างชาติในแง่ของการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจไทย

 

ตัวแทนเนสท์เล่ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้หลายคนจะมองว่าเนสท์เล่ในฐานะบริษัทข้ามชาติเป็นผู้เข้ามาครอบครองตลาดในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยขณะนี้เปิดโอกาส รับการลงทุนจากต่างชาติด้วยความตั้งใจให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต

 

การมีบริษัทต่างชาติเข้ามาจึงไม่ควรถูกมองในแง่ลบ แม้เนสท์เล่จะเป็นบริษัทข้ามชาติ แต่ยืนยันว่า พนักงานกว่า 3,000 คนที่มีอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีเพียงชาวต่างชาติซึ่งเป็นระดับผู้บริหารไม่กี่คนเท่านั้น เกิดการสร้างงานสร้างรายได้

 

พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และยืนยันอีกว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือการมีจริยธรรม และธรรมาภิบาลที่ดี 

 

ฝั่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ กังวลไม่มีผู้รับซื้อ 

 

ด้านประภาศรี กุลบุตรดี เกษตรกรชาวไร่กาแฟ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่าปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าส่งให้กับเนสท์เล่มากว่า 30 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนถึงปัจจุบัน โดยมีไร่กาแฟทั้งหมด 20 ไร่ สามารถสร้างผลผลิตได้ 5 ไร่ เนื่องจากอีก 10 กว่าไร่ผลผลิตของต้นกาแฟยังไม่เติบโตดี โดยเนสท์เล่รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรตามราคาตลาดโลก และมีการประกันราคาอยู่ที่ 84 บาทต่อกิโลกรัม

 

สำหรับปีนี้ มีการส่งกาแฟให้เนสท์เล่ประมาณ 1,700-1,800 กิโลกรัมสาร ในราคาประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากราคาเมล็ดกาแฟสูง 

 

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดข่าวเกี่ยวกับคำสั่งยุติการผลิตเนสกาแฟ เกษตรกรในพื้นที่ต่างรู้สึกตกใจ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย ราว 20-30 ราย ที่มีเนสท์เล่เป็นผู้รับซื้อเพียงรายเดียว ทุกคนไม่ได้มีแผนสำรองว่า หากไม่มีการผลิตเนสกาแฟในไทย จะส่งเมล็ดกาแฟไปให้ใคร

 

ทั้งนี้ เนสท์เล่ก็ได้ให้คำมั่นกับเกษตรกรว่าจะไม่ทอดทิ้ง แต่ก็ย้ำว่าจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งในมุมของเกษตรกรเองก็เริ่มคิดว่า หากเนสกาแฟผลิตในไทย นำเข้าไทยไม่ได้ เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันเพื่อส่งเมล็ดกาแฟส่งออกไปขายต่างประเทศหรือไม่ แต่ก็ไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เพราะเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป