posttoday

ไอศกรีมไทย สุดฮอต ครองแชมป์ส่งออกเบอร์ 1 ในเอเชีย โตเฉลี่ย 11% ต่อปี

25 เมษายน 2568

พาณิชย์ฯ เผย ไอศกรีมไทย ส่งออกเบอร์ 1 ในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 11% ต่อปี ช่วง 2 เดือนแรกปี 2568 ส่งออกไปตลาด FTA มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าไอศกรีมของไทยโดดเด่นและน่าจับตามองมาก เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน 

 

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกสินค้าไอศกรีมของไทยมีอัตราการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวได้ดีท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่มีความท้าทายสูง

 

โดยปัจจุบันไทยครองแชมป์เป็นประเทศผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร 

 

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลกเฉลี่ยปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 11 ต่อปี สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลก มูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

 


 

นางสาวโชติมา กล่าวต่อว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการส่งออก และปลดล็อคกำแพงภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้าที่ไทยมี FTA ด้วย 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง 

 

โดยปัจจุบันสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ทุกรายการของไทย ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าแล้วจาก 17 ประเทศคู่ FTA แล้ว เหลือเพียงญี่ปุ่นที่ยังเก็บภาษีนำเข้า ร้อยละ 21-29.8 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไอศกรีมไปตลาดคู่ FTA ขยายตัวมาโดยตลอด 

 

สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) ไทยส่งออกไอศกรีมไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไอศกรีมไปประเทศคู่ FTA ถึงร้อยละ 87 ของการส่งออกสินค้าไอศกรีมทั้งหมด และเติบโตได้ดีเกือบทุกตลาด

 

โดยเฉพาะอาเซียน เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย ขยายตัวร้อยละ 9 โดยมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 9 ฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 70 และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 41 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 9 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 32 ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 116 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 827

 

“ในระยะยาวคาดว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอศกรีมของไทยจะเติบโตมากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลาย ทำให้ไทยมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอศกรีมในภูมิภาคเอเชีย"

 

นางสาวโชติมา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ของโลกต่างเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไอศกรีมในภูมิภาค 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานในการผลิต รวมถึงพัฒนาสินค้าคิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อสร้างจุดขายในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ