posttoday

ขยายพันธุ์นกกระเรียนไทยสำเร็จในรอบ50ปี

09 มกราคม 2560

องค์การสวนสัตว์ ทูลเกล้าถวายงานการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย นำไปสู่การต่อยอดความสำเร็จของการสูญพันธุ์ในรอบ 50 ปี

องค์การสวนสัตว์ ทูลเกล้าถวายงานการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย นำไปสู่การต่อยอดความสำเร็จของการสูญพันธุ์ในรอบ 50 ปี

ย้อนไปกว่าทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2547 องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการได้เข้าถวายงานภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อดำเนินการออกแบบและปรับปรุงกรงนกสำหรับรองรับการจัดการเลี้ยง นกกระเรียนพันธุ์ไทย จำนวน 2 ตัว (นกกระเรียนพ่อพันธุ์เพศผู้ มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายจากจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ทราบวันเดือน ปี เกิด ที่แน่ชัด , เพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2531 องค์การสวนสัตว์ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2538)

จนถึงฤดูผสมพันธุ์ปี 2548 นกกระเรียนได้วางไข่ จำนวน 4 ฟอง จากการพิสูจน์ พบว่า ไข่ไม่มีเชื้อ คณะทำงานฯ จึงได้ถวายงาน โดยเสนอแผนการผสมเทียมนกกระเรียนพันธุ์ไทย จนกระทั่งถึงฤดูผสมพันธุ์ ในปี 2549 คณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ ได้นำคณะทำงานจากสวนสัตว์นครราชสีมา เข้าถวายงานดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในกรงและให้อาหารเสริม วิตามิน แร่ธาตุ แก่นกกระเรียนพันธุ์ไทยทั้งคู่

จนกระทั่ง นกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถวางไข่จำนวน 2 ฟอง และฟักไข่เป็นตัวได้ในที่สุด จนนำไปสู่การต่อยอดของการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสภาพเพาะเลี้ยงกลับคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติของประเทศไทย ระหว่างปี 2552 - 2556 และยังดำเนินโครงการมาจนถึงปี 2559

ทีมวิจัยขององค์การสวนสัตว์สามารถเพาะขยายพันธุ์ และทำการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติได้มากถึง 70 ตัว ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในรอบ 50 ปี ของการสูญพันธุ์

ปัจจุบัน นกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ตามธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรในพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย โดยยึดหลักการทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวเกษตรอินทรีย์ ที่มีความสำคัญมากกับสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าว เพื่อให้สามารถดำรงคงอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์ป่า เกษตรกร และทรัพยากรทางธรรมชาติ จนส่งผลให้การดำเนินงานดังกล่าวนำไปสู่การต่อยอดเพื่อการอนุรักษ์ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าว องค์การสวนสัตว์ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่กระบวนการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีความมุ่งหวังในการเสริมสร้างให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ภายใต้แนวคิด “นกอยู่รอด คนอยู่ได้ ชุมชนมีสุข”

จากความสำเร็จและความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกรที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย สัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ องค์การสวนสัตว์ จึงได้ตอบแทนช่วยเหลือชาวนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยการซื้อข้าว จำนวน 30,000 กิโลกรัม สำหรับมอบเป็นของที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่าในธรรมชาติ

นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า การซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพการผลิตในภาคเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่ได้มีส่วนร่วมในการทำคุณประโยชน์ให้กับทรัพยากรสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำระบบผลิตข้าวอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติยังคงมีชีวิตรอดอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เป็นชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย และเป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำรงชีวิต