กรีนพีชเผยโรงไฟฟ้าถ่านหินคุกคามระบบนิเวศ
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คุกคามระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของไทย
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คุกคามระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของไทย
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. องค์กรกรีนพีซระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญมากของไทยอย่างรุนแรง รวมถึงสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยกรีนพีซได้ร่วมสำรวจข้อมูลกับชุมชนและได้เปิดเผยข้อมูลผ่านแผนที่ผลกระทบในวงเสวนาที่ได้จัดขึ้น เพื่อแสดงถึงเส้นทางขนส่งถ่านหินและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งนี้จังหวัดกระบี่มีประชาชนกว่าครึ่งล้านคนที่พึ่งพารายได้จากการทำประมงและการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้เสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) คาดว่าจะมีการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2558 โดยเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาในปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ ต. ปกาสัย อ. เหนือคลอง นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว การขนส่งถ่านหินสกปรกที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 16 กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)(1)
“การขนส่งถ่านหินจะทำได้ก็ต้องมีการขุดลอกใต้ทะเลให้เป็นร่องน้ำลึก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง ทำให้พื้นที่หญ้าทะเลและป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ถูกเปลี่ยนเป็นทางด่วนขนถ่านหิน” นายต่อเหตุ คลองวิวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเกาะศรีบอยา (เกาะปู) กล่าว
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ. 2553 (แก้ไขครั้งที่ 3) โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมถึง 4,400 เมกะวัตต์ จากการนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ อย่างน้อย 2.3 ล้านตันต่อปี การขนส่งถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะต้องใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายถ่านหิน และมีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000-100,000 DWT (2) ผ่านเส้นทางทะเล 79 กิโลเมตร จนถึงที่ตั้งโรงไฟฟ้า จากนั้น ต้องมีการถ่ายถ่านหินใส่เรือบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อรองรับถ่านหินที่นำเข้าและขนส่งถ่านหินไปที่โรงไฟฟ้า
"ถ่านหินเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้า การปล่อยมลพิษจากถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นขี้เถ้า ฝุ่นละออง ล้วนแล้วแต่เป็นพิษและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ กฟผ. และรัฐบาลต้องหยุดโครงการนี้โดยทันที เพราะเป็นโครงการที่ขาดความรอบคอบ และสร้างความหายนะให้กับกระบี่ อีกทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เปราะบางและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางทะเลของคนไทยทั้งประเทศ เป็นแหล่งทรัพยากรที่เลี้ยงชีพผู้คนนับล้าน” น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าว
ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ถ่านหินประกอบไปด้วย มีเทน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงสารเคมีต่างๆ เช่น สารหนู และสารปรอท ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำต่างๆ ด้วย ผลที่ตามมานอกเหนือจากการทำลายสุขภาพของผู้คน คือ การทำลายวิถีการดำรงชีวิต ผลผลิตทางการเกษตรและการประมง นอกจากนั้น การเผาไหม้ถ่านหินยังเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังมีความแปรปรวนรุนแรงอยู่ในขณะนี้
กรีนพีซร่วมกับตัวแทนชุมชนในจังหวัดกระบี่ในการศึกษาและสำรวจถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ และได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเวทีเสวนาในหัวข้อ “การให้ความรู้ด้านพลังงานและคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์” โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา การเสวนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอสถานการณ์จากตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ และชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้
“รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยให้มากขึ้น กระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดจังหวัดหนึ่ง สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 100 หากรัฐบาลนำแผนอนุรักษ์พลังงานปี พ.ศ. 2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2555-2564 มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง และเร่งนำกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายพลังงานหมุนเวียนมาใช้ โรงไฟฟ้าถ่านหินอันสกปรกก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่และในประเทศไทยอีกต่อไป” น.ส.ริยา กล่าว