คลองเตย มิวสิค โปรแกรม เปลี่ยนชุมชนด้วยเสียงเพลง
ด้วยความหวังว่า “ดนตรีจะสามารถนำสันติภาพมาสู่โลก” ทำให้ “มาร์ก จอห์นสัน” และ “เอนโซ่ บูโอโน”
โดย...นกขุนทอง
ด้วยความหวังว่า “ดนตรีจะสามารถนำสันติภาพมาสู่โลก” ทำให้ “มาร์ก จอห์นสัน” และ “เอนโซ่ บูโอโน” ได้เริ่มต้นออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะผู้คนที่สนใจด้านดนตรีและเริ่มชักชวนให้ทุกคนเริ่มใช้ดนตรีเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สังคม ในชื่อโครงการ “Playing for change”
พวกเขาและทีมได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อบันทึกเสียงเพลงจากนักดนตรีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแต่ละคนจะร้องเพลงเดียวกัน ทว่ามีการนำมาตีความใหม่ จากนั้นนำการร้องของทุกคนมารวมกันเป็นเพลงเดียว และแต่ละเพลงที่เลือกมานั้นล้วนเป็นเพลงที่มีความหมายเชิงมิตรภาพและสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ อาทิ Stand By Me ซึ่งเป็นเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงและผลิตเป็นซิงเกิ้ล หรือ One Love ของ บ็อบ มาร์ลีย์ เป็นต้น
การปลุกจิตสำนึกของโครงการ Playing for change ได้ผลหยั่งรากลึกและมีการร่วมบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์และผลิตซีดีออกจำหน่าย ผลพวงเหล่านี้จึงได้ต่อยอดเป็นมูลนิธิ Playing for Change ในชื่อเดียวกัน นอกจากนี้ พวกเขายังเกิดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ผ่านดนตรีและเสียงเพลง นั่นคือ “การสร้างโรงเรียนและสอนศิลปะให้กับเด็กด้อยโอกาสทั่วโลก” ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่พวกเขาได้ทุ่มเทเพื่อสร้างสันติภาพด้วยเสียงดนตรี ผลลัพธ์คือเกิดการสร้างโรงเรียนดนตรีขึ้นในหลายๆ แห่งทั่วโลก อาทิ ประเทศเนปาล บราซิล อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี สหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย
ล่าสุด ประเทศไทยก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Playing for Change ในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงด้วยเสียงเพลง จุดเริ่มต้นมาจากผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง นามว่า “ศิริพร พรมวงศ์” ที่มีจิตใจรักงานอาสาและได้ติดตามเรื่องราวของ Playing for Change ผ่านทางยูทูบ
“เริ่มต้นมาจากแรงบันดาลใจที่เราได้ติดตามงานของโครงการนี้ผ่านยูทูบ และที่ผ่านๆ มาเราทำกิจกรรมนักศึกษา ออกค่ายอาสา ทำโปสเตอร์หาเครื่องดนตรีให้เด็กชาวเขา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ได้เครื่องดนตรีมาเยอะมาก แล้ว จีจี้ เพื่อนชาวฝรั่งเศสเป็นครูอาสาสอนหนังสือที่ชุมชนคลองเตยอยู่ก่อนแล้ว เขาอยากสอนดนตรีให้กับเด็กแต่ไม่มีอุปกรณ์ เรามีอุปกรณ์และก็มีการรับครูอาสาเข้าไปช่วย สอนทุกวันเสาร์ ตอนนี้ก็สอนมาครบ 1 ปีแล้ว และทุกวันที่ 21 ก.ย.ของทุกปีจะมีคอนเสิร์ต Playing for change จัดพร้อมกันวันเดียวกว่า 200 แห่งทั่วโลก เราก็เคยไปเล่นดนตรีเปิดหมวกหาเงิน ก็เลยเกิดความคิดเขียนแผนงานเสนอโครงการไปทางอเมริกา บอกว่าที่เมืองไทยเราก็มีกิจกรรมสอนดนตรีให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส ตอนนี้โครงการของเราผ่านแล้ว อยู่ในขั้นตอนที่เขากำลังระดมทุนหาเงินสนับสนุนให้เราอยู่”
“คลองเตย มิวสิค โปรแกรม” คือชื่อโครงการในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ย่านชุมชน 70 ไร่ ถนนอาจณรงค์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และในระหว่างที่รอเงินสนับสนุนจากสำนักงานใหญ่ ทางเมืองไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจรอรับอย่างเดียว แต่ก็มีการจัดแผนงานเพื่อหาเงินสนับสนุนเองด้วย “พอเราได้เป็นส่วนหนึ่งของ Playing for Change ก็จะได้รับงบประมาณบางส่วนเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายเรามีทั้งค่าเช่าที่ ค่าอุปกรณ์ ที่เราวางแผนกันไว้คือ นอกจากหาสปอนเซอร์ในช่วงเด็กปิดเทอมก็จะสอนดนตรีวันจันทร์ศุกร์ วันเสาร์อาทิตย์ก็ไปเล่นดนตรีเปิดหมวก และเอาของทำมือ เสื้อผ้ามือสองที่ได้รับบริจาคมาไปขาย รายได้ก็จะแบ่งเป็นสองส่วน ให้เด็กเป็นค่าแรงด้วย อีกส่วนนำเข้าโรงเรียน” ศิริพร กล่าว
“เชอร์รัลดีน เน็มรอด” ผู้ประสานงานโปรแกรมดนตรี คลองเตย มิวสิค โปรแกรม ประเทศไทย กล่าวว่า เราได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Playing for change โดยได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ ปัจจุบันมีเด็กในชุมชนคลองเตยเข้ามาเรียนดนตรีกับเราจำนวน 30 คน โดยได้แบ่งออกเป็นชั้นเรียนกีตาร์ อะคูเลเล่ คีย์บอร์ด กลอง ตามความถนัดและความสนใจของเด็กๆ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดโดยใช้ดนตรีเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับมืออาชีพ และยังสอดแทรกทักษะการใช้ชีวิตที่ดีให้กับเด็กๆ อีกด้วย และตั้งเป้าจะเชิญชวนให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตยมาร่วมเรียนดนตรีเพิ่มเป็น 100 คนต่อไป
ตอนนี้ทางโครงการมีครูอาสาประจำเพียง 6 คนต่อนักเรียน 30 คน ซึ่ง ศิริพร มองว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กๆ เพราะการสอนดนตรีต้องการสมาธิและการฝึกฝน ทักษะของเด็กที่มาเรียนก็แตกต่างกัน ทำให้ครูหนึ่งคนสอนเด็กได้ 35 คนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ก็นับว่ามากเกินไปแล้ว และแนวโน้มยังมีเด็กในชุมชนต้องการมาเรียนอีกจำนวนมาก
“ตอนนี้ขาดครูที่จะมาสอนพวกเครื่องสาย เพราะมีคนบริจาคไวโอลิน 10 ตัว ครูสอนกีตาร์เรามีเยอะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเด็กอยากเรียนกีตาร์เยอะมาก ครูคนหนึ่งก็สอนได้ 3 คน สอนรวมกันจะลำบาก ส่วนการรับเด็ก เรารับทุกคน ไม่มีปฏิเสธเด็กที่เดินเข้ามาหาเรา แล้วเรามาแยกประเภท เด็ก 911 โตขึ้นมาหน่อยก็อีกกลุ่มหนึ่ง ดูความเหมาะสมของเด็ก เขาถนัดอะไร ชอบเล่นอะไร บางคนก็มีทักษะมาจากโรงเรียนแล้วเราก็มาต่อยอด ทุกวันนี้เด็กที่มาเขามาหาความสุข เท่าที่สัมผัสได้เด็กบอกว่าเขาอยู่นี่มีเพื่อน เป็นที่ยอมรับ เวลาเขาอยู่ที่ชุมชนเขาจะมีคู่อริ มีเรื่องวิวาทกัน ส่วนพ่อแม่เขาก็มีความสุขกับการทำงาน หมดห่วงเวลาที่ลูกมาอยู่กับเรา เพราะช่วยให้เขาห่างไกลเรื่องยาเสพติด เล่นเกม อะไรที่ทำให้ลูกอยู่ไกลปัญหาพวกนี้ได้เขาก็อุ่นใจ ซึ่งเด็กบางคนที่มาเรียนกับเราบางคนก็มีปัญหาสมาธิสั้น ซึ่งเกิดจากปัญหาครอบครัว เราก็ได้เยียวยาตรงนี้ไปด้วย ฝึกดนตรีไปด้วย”
ทั้งนี้ ทางโครงการยังขาดครูสอนและอุปกรณ์ หากท่านใดสนใจสนับสนุนสามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/KhlongToeyMusicProgram